KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 603. การสนทนาเพื่อปลดปล่อยความรู้ฝังลึก

วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม 2013 เวลา 00:00 น. วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์
การพูดคุยแบบรังสรรค์ (generative conversation) จะช่วยให้ความรู้ที่ซ่อนอยู่ เผยตัวออกมา การพูดคุยแบบนี้เน้นการตั้งคำถาม ในบรรยากาศเท่าเทียมกัน และร่วมมือกัน คุยกันด้วยท่าทีเปิดกว้าง มีการตั้งคำถาม เพื่อเชื้อเชิญให้อีกฝ่ายหนึ่งออกความเห็นออกมาจากใจ ไม่เน้นถูก-ผิด

 

KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ  : 603. การสนทนาเพื่อปลดปล่อยความรู้ฝังลึก

หนังสือ The Inquiring Organization : Tacit Knowledge, Conversation, and Knowledge Creation Skills For 21st Century Organization ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2004   บทที่ ๘ เรื่อง Tacit Knowledge and Conversation  แนะนำวิธีสนทนาเพื่อให้ความรู้ฝังลึกออกมาทำงาน

การพูดคุยแบบใช้อำนาจเหนือ จะปิดกั้นความรู้ฝังลึก ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์  การพูดคุยแบบรังสรรค์ (generative conversation) จะช่วยให้ความรู้ที่ซ่อนอยู่ เผยตัวออกมา  การพูดคุยแบบนี้เน้นการตั้งคำถาม  ในบรรยากาศเท่าเทียมกัน และร่วมมือกัน  คุยกันด้วยท่าทีเปิดกว้าง  มีการตั้งคำถาม เพื่อเชื้อเชิญให้อีกฝ่ายหนึ่งออกความเห็นออกมาจากใจ ไม่เน้นถูก-ผิด

ท่าที ๓ อย่าง มีความสำคัญต่อการปลดปล่อยความรู้ฝังลึก  และช่วยให้เกิดการสร้างความรู้

1.  เป็น “ผู้ไม่รู้ ท่าทีเช่นนี้ จะเชื้อเชิญให้อีกฝ่ายหนึ่ง หรือคนอื่นๆ แสดงความคิดเห็นออกมา  รวมทั้งช่วยสร้างบรรยากาศของความเท่าเทียมกัน  ไม่เน้นอันดับการบังคับบัญชา  ท่าที “ผู้ไม่รู้” ของฝ่ายผู้ฟัง จะช่วยให้ฝ่ายผู้ฟังเอาใจใส่ “การสนทนาออกมาภายนอก” (outer conversation) ของผู้อื่น  และในขณะเดียวกัน เอาใจใส่ “การสนทนาภายใน” (inner conversation) ของตนเอง

2.  สนใจอยากรู้ การแสดงความคิดเห็นของคนที่อยู่ในสภาพนี้ จะอยู่ในท่าทีไม่สรุป ไม่มั่นใจ  และอยากฟังข้อคิดเห็นแบบอื่น  จะช่วยกระตุ้นผู้อื่นให้แสดงข้อคิดเห็นที่หลากหลายออกมา

3. ร่วมมือช่วยเหลือกัน เพื่อให้ความรู้ฝังลึกที่ร่วมกันปลดปล่อยออกมา รวมตัวและสังเคราะห์เป็นความรู้ใหม่ ที่นำไปสู่การสร้างสรรค์ หรือการแก้ปัญหา

ท่าทีทั้งสาม ทำให้เกิดบรรยากาศของการตั้งคำถาม หรือสนใจใคร่รู้ร่วมกัน  ทำให้เกิดความร่วมมือกันมองหา หรือสร้าง มุมมอง โอกาส แนวคิด หรือแนวทางใหม่ๆ ร่วมกัน

ท่าทีทั้งสามจึงเป็นบ่อเกิดของความสร้างสรรค์ (creativity)  แบบที่เป็นความสร้างสรรค์ร่วม (collective creativity)

วิจารณ์ พานิช

๗ ส.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/545269

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม 2013 เวลา 14:13 น.