ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๗๐. งานมอบรางวัลสิปปนนท์ ครั้งที่ ๖

วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม 2013 เวลา 00:00 น. วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ผมบันทึกเรื่องงานมอบรางวัลสิปปนนท์ครั้งที่ ๔ เมื่อปี ๒๕๕๔ ไว้ที่นี่ ปีที่แล้วผมไม่ได้ไปร่วมเพราะติดนัดไปต่างจังหวัดเสียก่อนทราบกำหนดวันมอบรางวัล ท่านที่สนใจงานมอบรางวัลสิปปนนท์ ครั้งที่ ๕ ชมได้ ที่นี่ คราวนี้พิธีจัดวันที่ ๕.. ๕๖ ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) ที่ท่านอาจารย์สิปปนนท์เป็นนายกสภาอยู่จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต โดยองค์ปาฐกปีนี้คือ ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร   บรรยายเรื่อง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย สู่ประชาคมอาเซียน

 

ผู้ได้รับรางวัล ๒ ใน ๕ คนมารับรางวัลเองไม่ได้   คุณแม่มารับแทน   ตอนช่วงสัมภาษณ์ผู้ได้รับรางวัลโดยมี นศ. ของ มธบ. เป็นผู้สัมภาษณ์สนุกมาก   เพราะคุณแม่ ๒ คนเล่าเรื่องลูกสนุกมาก    คนที่เล่าเก่งที่สุดมาจากหาดใหญ่เป็นแม่ของ นส. กรวีร์ พฤกษานุศักดิ์ ซึ่งได้รับทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา     ผมเห็นนามสกุลก็จำได้ ว่าน่าจะเป็นลูกของ ผศ. นพ. โกวิทย์ พฤกษานุศักดิ์ อาจารย์ภาควิชาโสต ศอ นาสิกฯ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์    ที่มีลูก ๓ คน สอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้ทุกคน   คนโตตอนนี้เรียนแพทย์ที่จุฬาฯ    คนนี้เป็นคนที่ ๒   ส่วนคนที่ ๓ อยู่ชั้น ม. ผมได้แสดงความยินดีกับคุณแม่ ที่เลี้ยงลูกเก่ง เวลาลูกได้ดี เราจะสรรเสริญแม่

 

 

ในช่วงการสัมภาษณ์ นิสิตที่มารับรางวัลทั้ง ๓ คน (เรียนจุฬาฯ ทั้ง ๓ คน) บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า    ที่ผลการเรียนดีนั้น เพราะรู้จักแบ่งเวลา    กำกับการเรียนของตนเองได้    ผมสรุปกับตนเองว่า คนหนุ่มสาวเหล่านี้เป็นคนที่มีวินัยในตน หรือบังคับตัวเองได้    ไม่เกียจคร้าน ไม่คบเพื่อนไปในทางเสื่อม

 

 

ช่วงที่ประเทืองปัญญาอย่างยิ่งคือ ปาฐกถาของ ดร. กฤษณพงศ์ ซึ่งท่านพูดกว้างกว่าหัวข้อ   คือกล่าวถึง การสร้างความเข้มแข็งของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย ทั้งหมด    ยกเอาตัวอย่างดีๆ ในต่างประเทศ ที่ท่านเคยไปดูงาน    ฟังแล้วผมรู้สึกว่า ท่านได้รู้ได้เห็นกว้างมาก   ทำให้นึกถึงตนเองว่า ผมเป็นคนรู้น้อย    โอกาสเรียนรู้มาจากการอ่านและการสังเกตเป็นหลัก   ไม่มีโอกาสไปเห็นที่ต่างๆ ในต่างประเทศ

 

ในงานแจกเอกสาร ๒ชุด คือ () ศักยภาพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยอยู่ตรงไหน () รายงานการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ และข้อเสนอเชิงนโยบาย เสนอต่อ สวทน. เสียดายที่เอกสารชุดที่สองนี้ไม่มีใน อินเทอร์เน็ต

 

 

ดร. กฤษณพงศ์ พูดเรื่องการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษเป็นหลัก    และพูดได้ดีจริงๆ รวมทั้งประเทศไทยก็เอาใจใส่เรื่องนี้มาก และทำได้ดีในระดับหนึ่ง    แต่ยังไม่เข้มข้นหรือมีคุณภาพสูง เท่าที่ทำกันในประเทศตะวันตก และเรามักให้ นร./นศ. ได้ฝึกฝนเรียนรู้เฉพาะด้านวิทยาศาสตร์    แต่เด็กที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศจะได้รับการฝึกด้านความรับผิดชอบ  ด้านศิลปะ  และด้านอื่นๆ ด้วย    ผมนึกในใจว่า การศึกษาของเขาเป็นการเรียนรู้ครบด้าน   แต่วงการศึกษาของไทยให้คุณค่าการเรียนเฉพาะวิชา ไม่เน้นการเรียนที่ครบด้าน

 

 

ผมดีใจ ที่มีการใช้ท่าน ศ. ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต เป็นตัวอย่างของบุคคลที่เก่งและเป็นคนดี    รศ. ดร. มารินา เกตุทัต คาร์นส ธิดาของท่าน ผู้ทำหน้าที่พิธีกร   ได้กล่าวย้ำกับนิสิตที่มารับรางวัลว่า เก่งอย่างเดียวไม่พอนะลูก  ต้องเป็นคนดีด้วยท่านอธิการยดี มธบ. รศ. ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ ก็ย้ำ และ ดร. กฤษณพงศ์ ก็กล่าวย้ำแล้วย้ำอีก

 

ท่านอาจารย์สิปปนนท์ เป็นครูของผม   เป็นครูจากการทำงานร่วมกัน    ไปร่วมงานนี้ทีไร ผมนำเงินจำนวนหนึ่งไปร่วมบริจาคเข้ากองทุนรางวัลสิปปนนท์ เกตุทัตด้วย    ผมขอเชิญชวนให้ท่านที่เคารพนับถือท่านร่วมกันบริจาค    เพื่อนำเงินไปทำประโยชน์แก่สังคม โดยอาศัยความดีของท่านเป็นเครื่องชี้นำ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๖ ก.ค. ๕๖

 

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/545391

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม 2013 เวลา 06:52 น.