การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของไทยในยุคปัจจุบัน ควรมีรูปแบบและวิธีการอย่างไร

วันพุธที่ 28 สิงหาคม 2013 เวลา 00:00 น. วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

คุณขวัญชนก ลีลาวณิชไชย แห่ง สกว. ผู้รับผิดชอบทำจดหมายข่าว ประชาคมวิจัย ตั้งโจทย์ “การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของไทยในยุคปัจจุบัน ควรมีรูปแบบและวิธีการอย่างไร” ให้ตอบครึ่งหน้ากระดาษ

ท่านที่สนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง ค้นจาก อินเทอร์เน็ตได้ โดยใช้คำค้นว่า “Teaching history in the 21st century” แต่ในที่นี้ผมจะให้ความเห็นจากมุมมองของผม ซึ่งไม่รับรองว่าถูกต้อง

การศึกษาประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน ไม่ควรเน้นจำเรื่องราวเหตุการณ์ ปี พ.ศ., รัชกาล, ฯลฯ เพราะข้อความรู้เหล่านั้นหาได้ง่ายจากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะจาก อินเทอร์เน็ต แต่ควรเน้นเรียนให้รู้เท่าทันว่า เรื่องราวจากบันทึกประวัติศาสตร์มีอคติ แล้วแต่ใครเป็นผู้บันทึก และผู้บันทึกชั้นต้นย่อมตีความเรื่องราว เหล่านั้นไปชั้นหนึ่งแล้ว และหากมีการคัดลอกต่อๆ กันมา เรื่องราวก็อาจจะผิดเพี้ยนไปตามการตีความ และอคติของผู้คัดลอก เรื่องราวในประวัติศาสตร์จึงไม่ได้มีไว้ ให้เรียนแบบปลงใจเชื่อไปเสียทั้งหมด 
การเรียนประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันจึงควรเรียนแบบนำเอาสาระเรื่องราวในประวัติศาสตร์จากแหล่งต่างๆ มาตีความ เพื่อทำความเข้าใจเหตุผลที่มาที่ไปของเรื่องราวในประวัติศาสตร์ โดยไม่เน้นความถูกต้อง ไม่สรุปไว้ล่วงหน้าว่าต้องตีความแบบใดจึงจะถูกต้อง เน้นการเชื่อมโยงเหตุการณ์ สาระ เพื่อให้คำอธิบายแสดงเหตุผล เพื่อฝึกฝนความคิด และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือโต้แย้งข้อสันนิษฐานต่างๆ ในประวัติศาสตร์

ทั้งนี้ ความลุ่มลึกละเอียดอ่อนของการตีความ ย่อมต้องปรับไปตามระดับวุฒิภาวะของผู้เรียน

ผมมีความคิดว่า เรื่องราวในประวัติศาสตร์ สะท้อนธรรมชาติของมนุษย์ ที่มีทั้งด้านบวกและด้านลบ และยังสะท้อนความเชื่อมโยงระหว่างชีวิตมนุษย์กับธรรมชาติหลากหลายด้าน หากการเรียนประวัติศาสตร์ มีการตั้งคำถามความเชื่อมโยงเหล่านั้น การเรียนรู้ย่อมประเทืองปัญญาอย่างยิ่ง

การเรียนประวัติศาสตร์ควรเน้นที่การตั้งคำถาม และเน้นการมีคำตอบหลายคำตอบ

 

 

วิจารณ์ พานิช
๓๐ ก.ค. ๕๖ 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 28 สิงหาคม 2013 เวลา 17:52 น.