การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม : หัวใจอุดมศึกษา : ๒๐. AAR

วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2013 เวลา 00:00 น. วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

บันทึก ๒๐ ตอนนี้ ได้จากการตีความหนังสือ The Heart of Higher Education : A Call to Renewal เขียนโดยผู้มีชื่อเสียง ๒ ท่านคือ Parker J. Palmer และ Arthur Zajonc ซึ่งเมื่อผมอ่านคร่าวๆ แล้ว ก็บอกตัวเองว่า นี่คือข้อเสนอสู่การเรียนรู้เพื่อเป็นคนเต็มคน ที่มี “พลังสาม” เข้มแข็ง คือ สมอง ใจ และวิญญาณ (head, heart, spirit) หรือพูดด้วยคำที่ฮิตในปัจจุบันคือ การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจากภายในตน (Transformative Learning)


แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเน้นเสนอการเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษา แต่ผมมีความเชื่อว่าต้องใช้กับการศึกษาทุกระดับ รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต และตัวผมเองก็ต้องการนำมาใช้ฝึกปฏิบัติเองด้วย


ผมตั้งเป้าหมายในการอ่านและตีความหนังสือเล่มนี้ ออกบันทึกลง บล็อก ชุด เรียนรู้บูรณาการพลังสาม ว่า ต้องการเจาะหาแนวทางทำให้จิตตปัญญาศึกษา เข้าสู่การศึกษากระแสหลัก เพื่อให้คนไทยมีทักษะจิตตภาวนา บูรณาการอยู่ในทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต

การเรียนรู้บูรณาการ (สมอง ใจ และวิญญาณ) พัฒนา ๓ ด้านไปพร้อมๆ กัน และส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Integrative Learning ในบางที่เรียกว่า Transformative Learning ซึ่งแปลเป็นไทยได้ ๒ แบบ ว่า (๑) การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน คือเปลี่ยนจากติดสัญชาตญาณสัตว์ เป็นมีจิตใจสูง ซึ่งมนุษย์ทุกคนบรรลุได้ บรรลุได้ในฐานะบุคคลทางโลก ไม่ต้องเข้าวัด หรือไม่ต้องบวช (๒) เป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง หรืองอกงาม ภายในตน ตรงกันข้ามกับการเรียนรู้แบบรับถ่ายทอดความรู้มาจากภายนอก

บันทึกตอนที่ ๒๐ นี้ เป็นตอนจบสำหรับการตีความหนังสือเล่มนี้ เป็นบันทึกสะท้อนความคิด (reflection) หรือ AAR ว่าผมเรียนรู้อะไรจากการอ่านและตีความหนังสือเล่มนี้

ผมบอกตัวเองว่า ความคิดที่ยึดถือกันตลอดมา ว่าการศึกษาทางโลกกับทางธรรมเป็นเรื่องแยกกัน เป็นคนละสิ่ง นั้น เป็นความเข้าใจที่ผิด เรื่องราวและวิธีการตามในหนังสือเล่มนี้บอกเราว่า มีวิธีการเรียนรู้ เพื่อให้คนเราเรียนรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมไปพร้อมๆ กัน การเรียนรู้สองสายนี้ไม่แยกกัน แต่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน

ที่สำคัญอย่างยิ่ง การเรียนรู้สองสายนี้ไม่ขัดกัน ไม่ทำให้การเรียนรู้อีกสายหนึ่งด้อยลง และการเรียนรู้ทางธรรมนี้ ไม่จำกัดศาสนาหรือความเชื่อ ไม่ต้องบวชเป็นพระ

ในศตวรรษที่ ๒๑ การเรียนรู้มาบรรจบกันที่การฝึก ฝึกฝนตนเองด้วยการปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุทักษะชุดหนึ่ง ที่เรียกว่าทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ทักษะนี้มีความซับซ้อน แต่ฝึกไม่ยากเกินศักยภาพของมนุษย์ กล่าวใหม่ว่า คนที่มีสติปัญญาปานกลางทั่วๆ ไปฝึกได้ ฝึกแล้วจะมีสติปัญญาดีกว่าคนในสมัยปัจจุบันเป็นอันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สติปัญญาที่จะดำรงชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบันและอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงสูง เอาแน่เอานอนไม่ได้ และเป็นโลกแห่งมายาความเย้ายวนล่อหลอก

การศึกษาในทุกระดับ ต้องเรียนรู้ให้เกิดพัฒนาการพร้อมกัน ๔ ด้าน คือด้านปัญญา (wisdom/cognitive), ด้านสังคม (social), ด้านอารมณ์ (emotional), และด้าน จิตวิญญาณ (spiritual) หรือจะเติมด้านที่ ๕ คือ พัฒนาการทางกาย (physical) ด้วยก็ได้ รวมเป็นการเรียนรู้บูรณาการ (Integrative Learning) หรือการเรียนรู้แบบงอกงาม/พัฒนา จากภายในตน (Transformative Learning)

การเรียนรู้แบบนี้ ทำโดยผู้เรียนลงมือทำ และคิดไตร่ตรอง (Learning by Doing) ครูทำหน้าที่สำคัญยิ่งกว่าการถ่ายทอดความรู้ คือทำหน้าที่ “ครูฝึก” /โค้ช ตรวจสอบระดับความรู้เดิมและจริตของศิษย์ และออกแบบกิจกรรมให้ศิษย์ลงมือทำ ให้ทั้งท้าทายและสนุก เมื่อทำได้สำเร็จเกิดความภาคภูมิใจ กระตุ้นให้อยากเรียนรู้ต่อเนื่อง

กิจกรรมที่ นศ. ลงมือทำ มีทั้งที่เน้นเป้าหมายพัฒนาปัญญา (cognition) เป็นหลัก และที่เน้นพัฒนาจิตตปัญญา (ethics, emotion, spiritual) เป็นหลัก แต่ไม่ว่าเน้นพัฒนาการด้านใด จะมีการเรียนรู้บูรณาการอยู่ด้วยเสมอ การเรียนรู้ส่วนที่เน้นปัญญา เมื่อตามด้วยกิจกรรมทบทวนไตร่ตรองใคร่ครวญ (reflection) หรือ AAR ครูจะสามารถนำหรือเอื้ออำนวย (facilitate) กระบวนการ ให้ นศ. เกิดการเรียนรู้ด้านใน (จิตตปัญญา) บูรณาการไปในเวลาเดียวกันได้เสมอ 
ทักษะของครูในศตวรรษที่ ๒๑ จึงเปลี่ยนจากทักษะในการถ่ายทอดความรู้ ไปสู่ทักษะในการเอื้ออำนวย หรือเป็นครูฝึก ให้ นศ. เกิดการเรียนรู้ที่ลึก เชื่อมโยง และครบด้าน

เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เช่นนี้ได้จริง สถาบันอุดมศึกษาต้องเปลี่ยนไปเป็น “ชุมชนเรียนรู้” (Learning Community) ที่ทั้งครูและ นศ. เรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ ชุมชนของครู ร่วมกันเรียนรู้ทักษะในการทำหน้าที่ครูในศตวรรษที่ ๒๑ ชุมชนเรียนรู้ของครู เรียกว่า PLC (Professional Learning Community) บรรยากาศของสถาบันอุดมศึกษาเป็นบรรยากาศที่เปิดกว้าง เปิดรับ และเคารพความแตกต่างหลากหลาย และเรียนรู้จากความแตกต่างหลากหลายนั้น เพราะความแตกต่างหลากหลายเป็นธรรมชาติของโลกและสังคมยุคปัจจุบัน ยิ่งโลกถึงกันจากกระบวนการโลกาภิวัตน์ สังคมยิ่งแตกต่างหลากหลายยิ่งขึ้น มนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องมีทักษะที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในท่ามกลางความแตกต่างนั้น

โลก และความก้าวหน้าของวิทยาการในศตวรรษที่ ๒๑ ได้เผยให้เราเห็นความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกันของสรรพสิ่ง รวมไปถึงจักรวาล การเรียนรู้ที่แท้จริงของมนุษย์จึงต้องเลยไปจากการเรียนรู้ที่ครอบงำด้วยกระบวนทัศน์ “มนุษย์เป็นศูนย์กลาง” (Anthropocentric) ไปสู่กระบวนทัศน์ความสัมพันธ์กันเป็นเครือข่าย ไม่มีศูนย์กลาง หรือมองศูนย์กลางเป็นสมมติ

ตามแนวทางของ “ศาสตร์ด้านการเรียนรู้” (Cognitive Psychology) สมัยใหม่ ความรู้เป็นสมมติ การรู้ของคนๆ หนึ่ง จะไม่เหมือนการรู้ของคนอื่น แม้จะผ่านประสบการณ์หรือกิจกรรมเดียวกัน คือการรู้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในตน งอกงามพัฒนาขึ้นจากภายในตน ไม่ใช่รับถ่ายทอดจากภายนอก

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๒ ก.พ. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2013 เวลา 08:02 น.