เรียนวิธีอธิบายข้อเท็จจริง

วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน 2013 เวลา 00:00 น. วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

เรียนวิธีอธิบายข้อเท็จจริง

ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วันที่ ๒๑ ก.ย. ๕๖มีวาระขอคำแนะนำ จากคณะกรรมการสภาฯ เรื่องการบริหารงานบุคคลสายวิชาการ    ทำให้มีข้อแนะนำดีๆ มากมาย

มีการย้ำให้ทั้ง นศ. และ อจ. เรียนจากการปฏิบัติจริง ในการทำงานจริง ให้มากขึ้น เพื่อทำความเข้าใจ ทฤษฎี ผ่านแว่นของการปฏิบัติ    หรือผ่านสัมผัสตรงของผู้เรียน    กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมากเห็นด้วย กับแนวทางนี้

แต่ ศ. ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ เฉียบกว่านั้น

ท่านบอกว่า เราคิดแยกการเรียนทฤษฎี กับปฏิบัติ มากเกินไป    การเรียนรู้ที่แท้จริง ไม่ได้แยกกัน    การเรียนรู้คือการเรียนวิธีอธิบายข้อเท็จจริง (ผมขยายต่อ ว่า ไม่ใช่การเรียนข้อเท็จจริง)    คนที่มีประสบการณ์ จากภาคปฏิบัติ จะมีวิธีอธิบายเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา     คือความรู้จากการปฏิบัติจะเข้ามาผสมผสาน กับความรู้เชิงทฤษฎีอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้แยกกัน

การแยกความรู้ทฤษฎี กับความรู้ปฏิบัติ จึงไม่น่าจะถูกต้อง    เพราะในความเป็นจริง มันไม่ได้แยกกัน    ทั้งความรู้ทฤษฎี และความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติ ต่างก็เป็นความรู้ที่ประกอบกันเข้า สำหรับใช้อธิบายข้อเท็จจริง

คำอธิบายแบบนี้ น่าจะเป็นมุมมองแบบหนึ่ง ของ การเรียนรู้บูรณาการ”    คือบูรณาการความรู้ ปฏิบัติกับความรู้ทฤษฎี

ขอย้ำนะครับ ว่าการเรียนรู้คือการเดินทางเข้าหาความจริง    หาทางทำความเข้าใจความจริง ให้ชัดขึ้น มองได้หลากหลายแง่มุมมากขึ้น และเข้าใกล้มากขึ้น    ผมไม่คิดว่าผมรู้ความจริง แต่สนุกกับการค้นหา    และเห็นคุณค่าของการค้นหา แล้วแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับมิตรสหาย และนำมาหาทางทำให้สังคมดีขึ้น    และที่สำคัญที่สุด เรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเอง (transformative learning)

ผมตีความว่า ด้วยวิธีคิดแบบของ ศ. ดร. นิธิ    ผลของการเรียน คือความสามารถในการอธิบาย ข้อเท็จจริงมีความแจ่มชัด และอธิบายได้หลากหลายมุมมอง    ซึ่งก็ทำให้ตีความต่อได้ว่า วิธีประเมินผลการเรียน ด้วยการวัดว่าจำทฤษฎีได้หรือไม่    ไม่ใช่วิธีประเมินผลการเรียนที่ถูกต้อง    วิธีที่ถูกต้อง ทำโดยให้ผู้เรียนเป็นผู้อธิบายเอง

ด้วยนิสัยส่วนตัว ผมอดเถียง ศ. ดร. นิธิ ไม่ได้    ว่าตามแนวทางของการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑   การเรียนรู้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะ    และทักษะสำคัญคือทักษะประยุกต์ใช้ความรู้ เพื่อการทำงานหรือ เพื่อการดำรงชีวิต    ดังนั้นการเรียนรู้เพื่อเพิ่มพลังอธิบาย ยังไม่เพียงพอ    ต้องเรียนเพื่อเพิ่มพลังปฏิบัติด้วย

แต่ตอนประชุม ผมนึกหาคำเถียงไม่ออก   เพราะมัวดื่มด่ำซาบซึ้งกับคำอธิบายของท่านเสีย

วิจารณ์ พานิช

๒๑ ก.ย. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน 2013 เวลา 14:57 น.