KM วันละคำ : 606. ความสงสัยเป็นชนวนสู่การสร้างความรู้

วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน 2013 เวลา 00:00 น. วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

KM วันละคำ : 606. ความสงสัยเป็นชนวนสู่การสร้างความรู้

หนังสือ The Inquiring Organization : Tacit Knowledge, Conversation, and Knowledge Creation Skills For 21st Century Organization บทสุดท้าย อธิบายกลไกหรือขั้นตอนที่ละเอียดอ่อนยิ่ง    ที่การพูดคุยกันด้วยท่าทีของ “ผู้ไม่รู้”  “ผู้อยากฟัง อยากรู้”  และ อย่างเป็นกัลยาณมิตร   กระตุ้นให้สมาชิกของวงสนทนา พูด “สิ่งที่ยังไม่ได้พูด” ออกมา

“สิ่งที่ยังไม่ได้พูด” เหล่านี้ มีความไม่ชัดเจน    และเปิดมุมมองใหม่ที่ยังไม่ชัดเจน    ก่อให้เกิดความสงสัย ของสมาชิกในวงสนทนา   กระตุ้นให้สมาชิกคนอื่นๆ พูด “สิ่งที่ยังไม่ได้พูด” ของตนออกมา    เกิดเป็น “อสงไขของสิ่งที่ยังไม่ได้พูด” (infinity of the unsaid) แล้วค่อยๆ ก่อตัวกันเป็นความรู้ใหม่

ความรู้ใหม่นี้ อาจมีหลายชุด หลายแนว    เมื่อมีคนนำไปลองใช้ในการทำงานหรือการสร้างสรรค์    ก็จะพบความรู้ใหม่ที่ใช้การได้ เกิดผลดีกว่าเดิม หรือเกิดเป็นนวัตกรรมขึ้น

การสร้างความรู้ที่ใช้พลังของ ความรู้ฝังลึก ต้องผ่านวงสนทนา ปลดปล่อย สิ่งที่ไม่ชัดเจน ที่ยังไม่ได้พูด” ออกมา    วงสนทนาแบบนี้จะเป็นตัวการกระตุ้นความสงสัยในสมาชิกของวงสนทนาแต่ละคน   ทำให้มีการปลดปล่อย  “สิ่งที่ยังไม่ได้พูด” ออกมามากมาย    แล้วสมาชิกแต่ละคนเลือกนำความรู้ที่ตนสนใจ ไปผ่านการปฏิบัติแบบอิสระ ไม่มีการบังคับ    ก็จะได้ผลของการสร้างความรู้ ที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน

ในหลายกรณี เจ้าของ สิ่งที่ยังไม่ได้พูด” นั้นเอง คือผู้สงสัย   ว่าสิ่งที่ตนจะพูดออกมานั้น ตนเข้าใจถูกต้องหรือไม่    ความกล้าหาญที่จะพูดสิ่งนี้ออกมา มีความสำคัญอย่างยิ่ง    โดยมีบรรยากาศเปิดกว้างและเป็นมิตรเป็นตัวกระตุ้น   ให้ความสงสัยเอาชนะความไม่กล้า

นำไปสู่การสร้างความรู้ ที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน

วิจารณ์ พานิช

๗ ก.ย. ๕๖

บางแสน

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน 2013 เวลา 15:03 น.