ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๒๕a. ภาษาปักษ์ใต้นานๆ คำ : (๔) เวน้อง

วันอังคารที่ 05 พฤศจิกายน 2013 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ในวงสนทนากับน้องๆ ในห้องนอนป่วยของแม่ ที่โรงพยาบาลชุมพร    เมื่อวันที่ ๒๙ ก.ย. ๕๖    เราคุยกันเรื่องชีวิตสมัยเด็ก ตอนหนึ่งผมเอ่ยถึงความน่าเบื่อในการไกวเปลน้อง     น้องชายคนที่ ๔ (นับผมเป็นคนที่ ๑) เอ่ยภาษาปักษ์ใต้ขนานแท้ว่า เหว่หน่อง(เวน้อง) ซึ่งหมายถึงไกวเปลน้อง

 

ที่จริงเราคุยกันเรื่องพัฒนาการของเด็ก    เพราะมีเหลนคนที่ ๗ ของแม่ อายุ ๗ เดือน เป็นเหลนสาวตาโต    เห็นหน้าใครก็จ้องหน้า     ผมจึงอธิบายให้น้องและหลานฟังว่า หลานสาวตัวเล็กกำลังเรียนวิธีจำหน้าคน    ตามที่ผมกำลังอ่านเรื่อง Primal Brain in the Modern Classroomค้างอยู่    ผมอธิบายว่า การที่เด็กเล็กได้พบหน้าคน ได้มีคนมาเล่นด้วย    หรือร้องเพลงให้ฟัง เป็นการกระตุ้นสมอง ให้เจริญเติบโต    ช่วยให้เด็กมีสมองดี

 

เมื่อ ๖๐ ปีที่แล้ว เด็กทุกคนนอนเปล   และมีคนคอยไกวและร้องเพลงกล่อม   ถือเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง    สมัยนั้นเดินเข้าไปในหมู่บ้าน ตอนสายๆ จะได้ยินเสียงเพลงกล่อมเด็กมาจากหลายบ้าน    ตอนนั้นประเทศต้องการมีพลเมืองมากๆ  เพื่อจะได้เป็นมหาอำนาจ    ตอนผมเริ่มเป็นหนุ่ม เราพูดล้อเลียนเพื่อนที่สงสัยว่าจะมีความสัมพันธ์กับสาวว่า “สร้างชาติ”

 

วัฒนธรรมนอนเปล มีคนไกว และร้องเพลงกล่อม ค่อยๆ หมดไป    คงจะเป็นเพราะวิถีชีวิตของคนเรายุ่งขึ้น    ไม่มีเวลานั่งไกวเปลเป็นครึ่งค่อนชั่วโมงจนทารกหลับ    แล้วจึงย่องไปเล่นได้   หากน้องตื่นและเปลหยุดน้องจะร้อง    เราต้องรีบกลับมาไกวเปลและร้องเพลงกล่อมต่อ    ยกเว้นน้องนอนนานพอแล้ว เรียกว่าน้องตื่นแล้ว    อาจหิวนม ก็พาไปกินนมแม่ หรือชงนมให้กิน

 

นึกภาษาปักษ์ใต้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กได้อีกคำหนึ่งคือ แหมทาน (แม่ทาน)    หมายถึงหมอตำแย    ผมและน้องๆ ทำคลอดโดยแม่ทานหลายคน   มาน้องคนหลังๆ ที่ทำคลอดโดยผดุงครรภ์    เข้าใจว่าไม่มีใครเลยที่ทำคลอดโดยแพทย์

 

แหมทาน ของผมชื่อ “ยายอุ่น” เป็นคนอายุมาก    ถือเป็นแหมทานที่ชำนาญมากของตำบล   ผมรู้แต่ว่าแหมทานของผม ชื่อยายอุ่น แต่ไม่รู้จักตัวยายอุ่น    เข้าใจว่าคงจะตายเสียก่อนผมจำความได้    แม่เคยเล่าเป็นเลาๆ ว่า ยายอุ่นบอกว่าผมคลอดออกมา โดยมีสายรกคล้องคอ   คล้ายๆ มีสายสังวาลย์คล้องคอ แสดงว่าจะมีบุญ    แม่ไม่พูดเรื่องนี้มากนัก คงเกรงลูกจะทะนงตัวและเหลิง

 

ที่จริงการที่ทารกมีสายสะดือยาว  และพันรอบคอ ถือเป็นความเสี่ยงต่อชีวิตอย่างหนึ่ง    เพราะอาจรัดคอทำให้ขาดเลือด ไปสมอง ทำให้สมองพิการหรือตายได้  

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ก.ย. ๕๖

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 05 พฤศจิกายน 2013 เวลา 08:11 น.