ถอนยาพิษต่อการเรียนรู้

วันอังคารที่ 05 พฤศจิกายน 2013 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์
ความเครียดทำให้ต่อมไร้ท่อหลั่งฮอร์โมนเครียดออกมา ได้แก่ คอร์ติซอล และ นอร์อะดรีนาลิน ฮอร์โมนเหล่านี้มีผลต่อการเชื่อมโยงใยประสาทในสมอง โดยเฉพาะที่สมองส่วน EF

ถอนยาพิษต่อการเรียนรู้

บทความเรื่อง Treating a Toxin to Learning เขียนโดย Clancy Blair ตีพิมพ์ในนิตยสาร Scientific American ในปี ค.ศ. 2012    และพิมพ์ซ้ำในหนังสือ The Science of Education ในปี 2012  บอกว่ายาพิษคือความเครียด   และเด็กที่ถูกอาบยาพิษคือเด็กจากครอบครัวยากจนหรือมีความเครียดจากสาเหตุอื่น   และส่วนของสมองที่ถูกพิษมากที่สุดคือส่วน Executive Function (EF)   ที่อยู่ตรงสมองส่วน neocortex ตรงหน้าผาก

นี่คือสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เด็กจากครอบครัวยากจน มักมีผลสัมฤทธิ์ของการเรียนต่ำ

เขานำผลการวิจัยมาเล่า ว่าจริงๆ แล้ว ความเครียดเป็นยาพิษต่อสมองและการเรียนรู้ ในทุกอายุ   แต่ในวัยเด็ก มันจะก่อผลถาวรที่พัฒนาการของ EF   และต่อทักษะด้านการเรียนรู้ที่สำคัญมาก (critical cognitive skills)

พิษร้ายนี้ทำให้เราควบคุมอารมณ์ยาก ความสัมพันธ์กับคนอื่นไม่ดี และไม่มีสมาธิ   และหากอาบพิษเรื้อรัง จะมีผลร้ายต่อสุขภาพ    ทั้งสุขภาวะทางกาย  ทางอารมณ์ และทางปัญญา

ในเด็ก ผลร้ายต่อพัฒนาการของสมอง เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนอยู่ในท้องแม่

ความเครียดทำให้ต่อมไร้ท่อหลั่งฮอร์โมนเครียดออกมา   ได้แก่ คอร์ติซอล และ นอร์อะดรีนาลิน  ฮอร์โมนเหล่านี้มีผลต่อการเชื่อมโยงใยประสาทในสมอง   โดยเฉพาะที่สมองส่วน EF

ในบทความนี้ เขาบอกว่า EF มีส่วนสำคัญต่อการคิดอย่างมีเหตุผล การวางแผน  การแก้ปัญหา  การกำกับอารมณ์ และความสนใจ (สมาธิ)

ที่จริงความเครียดเล็กน้อย ทำให้ตื่นตัว และทำงานซับซ้อนได้ดีขึ้น   แต่เมื่อระดับความเครียดเลยขีดพอดี ก็เกิดผลร้าย

วิจารณ์ พานิช

๖ ต.ค. ๕๖

 

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 05 พฤศจิกายน 2013 เวลา 09:55 น.