สภาการหนังสือพิมพ์ออกแถลงการณ์ หยุดทำร้ายประเทศชาติ

วันอังคารที่ 05 พฤศจิกายน 2013 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์
เราขอคัดค้านการบังคับใช้ให้เป็นไปตามร่างกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมนี้ ขอสนับสนุนบุคคล กลุ่มบุคคล รวมทั้งกระบวนการอันชอบธรรมที่จะคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างถึงที่สุด และขอเรียกร้องให้วุฒิสภา อันประกอบด้วยผู้ทรงเกียรติทั้งหลาย ได้ใช้วิจารณญาณในการพิจารณากฎหมายฉบับนี้อย่างรอบคอบ ถี่ถ้วน เพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติ และเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญในคุณค่าของความดี และคนดีของสังคมนี้

สภาการหนังสือพิมพ์ออกแถลงการณ์ หยุดทำร้ายประเทศชาติ

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2556 สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ออกแถลงการณ์ หยุดทำร้ายประเทศชาติ ว่า “การผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งมิได้เป็นไปตามหลักการ มีลักษณะขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม เป็นช่องทางให้เกิดการทุจริต คอรัปชั่นมากขึ้นในสังคมไทย อีกทั้งเป็นการบั่นทอนกำลังใจ คนดีมีคุณธรรม และลดทอนคุณค่าของคุณงาม ความดี นับเป็นภัยร้ายแรงอย่างยิ่งสำหรับประเทศชาติในอนาคต

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ อันเป็นองค์กรอิสระ มีหน้าที่ในการควบคุมกันเอง ส่งเสริมให้หนังสือพิมพ์ทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่ประชาชน ยึดถือความยุติธรรม และความเที่ยงธรรมเป็นหลักในการประกอบวิชาชีพ ได้ตระหนักถึงภาระหน้าที่ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนี้ ที่จะส่งเสริม และสนับสนุน ความดี และคนดี ภายใต้รัฐและผู้ปกครองที่ดี และแสดงให้เห็นประจักษ์แก่สังคมทั่วไป

รัฐที่ดีจะต้องปกครองด้วยกฎหมายมิใช่มนุษย์ และไม่ใช่ปกครองด้วยกฎหมายซึ่งมาจาก “เสียงข้างมาก” ที่ไม่ได้สะท้อนผลประโยชน์ของชาติและประชาชนอย่างแท้จริง หากมุ่งหมายเพื่อตนเองและพวกพ้อง ในขณะเดียวกันอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติก็ไม่สามารถถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารตามหลักการที่ถูกต้องได้ ในแง่ของความเป็นธรรม หรือหลัก “นิติธรรม” ซึ่งหมายถึงความเป็นธรรมที่มีอยู่ในกฎหมาย เป็นกฎ ระเบียบ แบบแผนที่สังคมยอมรับ และยินยอมพร้อมใจปฎิบัติตาม เมื่อพิจารณาประกอบกับเนื้อหาและเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้แล้ว เห็นว่าขัดกับหลักการทั้งเรื่อง นิติรัฐ และนิติธรรมอย่างสิ้นเชิง

เมื่อกฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ คนทำผิดกฎหมาย ทั้งที่มีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว หรืออยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณา สามารถที่จะยกเลิกเพิกถอนคำพิพากษานั้นได้ในภายหลัง หรือพ้นไปจากข้อกล่าวหาโดยยังไม่มีการพิสูจน์ความผิดใดๆ การปฎิบัติตามกฎหมายก็จะไม่สำคัญอีกต่อไป อำนาจตุลาการ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดโดยหลักการ ที่จะเป็นหลักประกันว่า บุคคลทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน และหากกระทำความผิดไม่ว่าคดีแพ่ง หรืออาญา ก็จะต้องได้รับการพิจารณาพิพากษาโดยศาลเดียวกัน อย่างเสมอหน้ากัน ก็จะไม่สามารถเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนได้อีก

เราเห็นว่า มติจากเสียงข้างมาก หากมิได้อยู่บนหลักการและพื้นฐานเพื่อประโยชน์สาธารณะ ก็ไม่สามารถรับรองความถูกต้องตามหลักการของการตรากฎหมาย ที่จะต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรม และไม่สามารถที่จะอ้างความชอบธรรมได้ เราขอคัดค้านการบังคับใช้ให้เป็นไปตามร่างกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมนี้ ขอสนับสนุนบุคคล กลุ่มบุคคล รวมทั้งกระบวนการอันชอบธรรมที่จะคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างถึงที่สุด และขอเรียกร้องให้วุฒิสภา อันประกอบด้วยผู้ทรงเกียรติทั้งหลาย ได้ใช้วิจารณญาณในการพิจารณากฎหมายฉบับนี้อย่างรอบคอบ ถี่ถ้วน เพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติ และเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญในคุณค่าของความดี และคนดีของสังคมนี้”

วิจารณ์ พานิช

๒ พ.ย. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 05 พฤศจิกายน 2013 เวลา 10:03 น.