สภามหาวิทยาลัยกับการกำกับคุณภาพการศึกษา

วันศุกร์ที่ 08 พฤศจิกายน 2013 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ในการอบรมหลักสูตร ธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาอุดมศึกษา รุ่นที่ ๑๗   หัวข้อ บทบาทสภามหาวิทยาลัยในการกำกับคุณภาพวิชาการ :  การอนุมัติการเปิดสอนหลักสูตร  โดยมี ศ. กิตติคุณ ปทีป เมธาคุณวุฒิ เป็นวิทยากร    เมื่อวันที่ ๒๖ ก.ย. ๕๖  ในตอนท้าย ท่านนำเรื่องการเปิดหลักสูตรแปลกใหม่ ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเฉพาะทาง มาให้ดู

 

ได้แก่  วิทยาลัยดุสิตธานี,    มหาวิทยาลัยเนชั่น,    สถาบันกันตนา,    สถาบันการจัดการปัญญาภิวัตน์,    สถาบันเทคโนโลยี ไทย-ญี่ปุ่น,   มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ปตท. ระยอง,   สถาบันอาศรมศิลป์

 

แล้วขอให้ผู้เข้าหลักสูตรอภิปรายกันว่า มหาวิทยาลัยที่มีอยู่แล้ว จะปรับตัวอย่างไร   เกิดการอภิปรายที่สนุกสนานมาก   ในที่สุดก็เกิดการตื่นตัวขึ้นว่า    หากมหาวิทยาลัยที่มีอยู่แล้วยังเปิดหลักสูตร จัดการเรียนการสอนอย่างในปัจจุบัน    ในไม่ช้าบัณฑิตของตนจะตกงาน   มีผลให้คนไม่มาเข้าเรียน

 

ก่อนจบการเรียนในช่วงนี้ ผมยกมือขอทำ reflection ส่วนตัว    ว่าในโอกาสที่ผมได้เข้าเป็นลูกศิษย์ท่าน เป็นเวลาสองชั่วโมงเศษ ผมได้เรียนรู้อะไร

 

ผมเรียนรู้ว่า สภามหาวิทยาลัยต้องกำกับดูแลคุณภาพการศึกษา     โดยจัดให้มีระบบกำกับคุณภาพ หลักสูตร ที่ไม่ใช่แค่อนุมัติหลักสูตรในกระดาษ    ต้องกำหนดให้มีการตรวจสอบคุณภาพของการเรียนการสอน และคุณภาพของบัณฑิต ตลอดเส้นทาง

 

ที่จริงท่าน ศ. ดร. ปทีป ได้แนะนำที่ประชุมว่า วิธีการจัดการคุณภาพการศึกษาด้วย Academic Board ของ University of Sydney เป็นระบบที่น่าสนใจมาก   และมีนักศึกษาร่วมเป็นกรรมการด้วย    จึงนำมาบันทึกไว้    ท่านที่สนใจเข้าไปดูได้ที่ เว็บไซต์ ของมหาวิทยาลัย ซิดนีย์

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๖ ก.ย. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich