ชีวิตที่พอเพียง: ๒๐๓๕. นั่งทำสมาธิซึมซับบรรยากาศการประชุมที่ห้องประชุมสันติไมตรี

วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2013 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ผมได้รับการติดต่อทาง อีเมล์ จากเจ้าหน้าที่ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ ๒๕ ก.ย. ๕๖ ส่งสำเนาหนังสือเลขที่ ศธ ๐๒๐๘/๓๖๔๔ เชิญประชุม ดังนี้ “ด้วยกระทรวงศึกษาธิการจะจัดประชุม ปฏิรูปการศึกษา ในวันศุกร์ที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๖  เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ ห้องประชุมตึกสันติไมตรี หลังใน ทำเนียบรัฐบาล   เพื่อเสนอสถานการณ์ปัจจุบัน  และแนวทางการปฏิรูป การศึกษาในภาพรวม  การพัฒนา ICT เพื่อการเรียนรู้   และการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๔๐ วรรคสาม   โดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม”

หนังสือนี้บอกว่าให้ตอบภายในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๖   ผมสงสัยว่า คนที่ได้รับหนังสือ ที่ส่งเป็นกระดาษ จะได้รับภายในวันเดียวและตอบทันหรือ   แต่เมื่อไปประชุมเห็นมีข้าราชการผู้ใหญ่ และผู้ได้รับเชิญ มาประชุมเต็มห้อง    รวมเจ้าหน้าด้วย ร่วม ๑๐๐ คน    ก็คิดว่าเขาคงมีวิธีติดต่อนัดหมาย ทางอื่นด้วย

โชคดี ที่ช่วงปลายเดือนกันยายน นัดของผมเบาบางลง    จึงรับนัดนี้ได้    และได้มีโอกาสไปนั่งทำสมาธิ ซึมซับบรรยากาศของการประชุม ที่นานๆ ผมจะมีโอกาสได้เข้าไปประชุมสักครั้งหนึ่ง

สัมผัสแรกของการประชุม ผมรู้สึกว่า ท่านนายกรัฐมนตรีพูดคล่องดี    และต่อมาก็รู้สึกว่าท่านสรุป ประเด็นได้ดี    แต่เมื่อคิดลึกๆ ผมสรุปว่าการประชุมทั้งหมดนั้น มีความลึกซึ้งแบบที่ฝรั่งเรียกว่า skin deep

และเมื่อจบการประชุม ผมเรียนคุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ที่นั่งใกล้ๆ กันว่า    ผมคิดว่า หากดำเนินการตามแนวที่เสนอและสรุป    อีก ๑๐ ปีมาประชุมกันใหม่   จะพบว่าคุณภาพการศึกษาไทย ยิ่งตกต่ำลงไปอีก

ท่านปลอบใจผมว่า เรื่องลึกๆ เอาไปพูดกันข้างนอก    พูดกันที่นี่เอาเรื่องกรอบใหญ่ๆ พอแล้ว    ผมสรุปกับตนเองว่า ผมเป็นคนหน่อมแน้ม คิดทำงานใหญ่ระดับการเมืองไม่เป็น    และโชคดีที่ผมตัดสินใจ ไม่ยกมือขอพูด

การไปประชุมแบบนี้ ถือว่าได้รับเกียรติและการยอมรับนับถือสูงมาก    และผมคิดว่า เป็นการไป ช่วยกันทำหน้าที่ให้แก่บ้านเมือง    โดยไม่มีเงินเบี้ยประชุม หรือค่าเดินทางใดๆ ทั้งสิ้น    แม้การเซ็นชื่อเข้าประชุม ก็ไม่มี   รวมทั้งไม่มีรายงานการประชุมครั้งก่อนๆ เพื่อความต่อเนื่อง   ผมเดาว่า อาจเกิดจากครั้งก่อนๆ ผู้จัดการ ประชุมคือสภาพัฒน์ แต่คราวนี้จัดโดยกระทรวงศึกษาฯ    ปัญหาขาดวัฒนธรรมการทำงานเป็นทีมข้ามหน่วยงาน ข้ามกระทรวงกัดกร่อนสังคมไทยอย่างน่าตกใจ

ไม่ทราบว่าผมมีอคติกับเจ้าหน้าที่ในสถานที่ราชการระดับสูงอย่างทำเนียบรัฐบาลหรือเปล่า    ผมคิดว่าเขาทำงานเป็นแต่ด้านพิธีกรรม    ไม่มีเนื้อใน    และไม่มีความสามารถด้านการจัดการ

อย่างเรื่องการจราจรในทำเนียบรัฐบาลนั้น สับสนที่สุด    มีเจ้าหน้าที่มากมายโดยไม่จำเป็น   ผมเปรียบเทียบระบบการจัดการการจราจรของทำเนียบรัฐบาล กับที่ SCB Park Plaza แล้ว คิดว่าต่างกัน อย่างฟ้ากับดิน    บรรยากาศในทำเนียบรัฐบาลของเราไม่ควรจะต่ำต้อย   ดูสับสน และรกรุงรัง จากการจัดการที่ต่ำขนาดนั้น

ที่จริงเอกสารและสาระในที่ประชุมดีทั้งนั้น   เหมือนกับเอกสารด้านการศึกษาอื่นๆ ของไทย    ที่ถ้าตีความสาระได้ลึก และปฏิบัติได้จริง    ผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษาของประเทศก็จะไม่ตกต่ำขนาดนี้

เรื่องนี้คุณหมอสุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค. ปรารภกับผมในห้องประชุมก่อนเริ่มประชุม   ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง    ผมบอกหมอสุภกรว่า สิ่งที่เขียนกับสิ่งที่ทำเป็นคนละสิ่ง    ไม่แน่ใจว่าคนเขียนกับ คนทำเป็นคนละคนหรือเป็นคนกลุ่มเดียวกัน   ถ้าเป็นคนกลุ่มเดียวกัน ก็แสดงว่าเขาไม่เข้าใจสิ่งที่เขียนอย่างแท้จริง

ผมกลับมาไตร่ตรองความเห็นที่พูดกับหมอสุภกร แล้ววิพากษ์ตัวเองว่า ผมพูดผิด

คำอธิบายใหม่ของผม    ว่าทำไม พรบ. การศึกษาแห่งชาติ   และเอกสารนโยบายการศึกษาต่างๆ ของไทย ต่างก็ดีทั้งสิ้น    แต่เมื่อนำมาปฏิบัติ คุณภาพการศึกษากลับเลวลง     อธิบายว่า เพราะใช้กระบวนทัศน์ที่ผิด ในการจัดการ    คือระบบการศึกษาเป็นระบบที่ซับซ้อนยิ่ง (complex-adaptive systems)     แต่การจัดการของ กระทรวงศึกษาธิการและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดการแบบ simple system    และใช้วิธีการบริหารงานแบบ ล้าสมัย ผิดยุค    คือแบบควบคุม-สั่งการ (command & control)    มีผลให้ครูมีคุณภาพต่ำ

คนมักกล่าวโทษ สาเหตุที่ครูมีคุณภาพต่ำ ว่าเป็นเพราะสังคมไม่เห็นคุณค่าของการเป็นครู    คนที่มาเรียนครูจึงเป็นคนที่แข่งขันไปเรียนอย่างอื่นไม่ได้   ผมเถียง    ว่าแม้สภาพจะเป็นเช่นนั้น   แต่เมื่อมาเป็นครูแล้ว    หากการบริหารงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาครูเป็นไปอย่างถูกต้อง    คุณภาพการศึกษาของเราจะดีกว่านี้มาก

ที่ผ่านมา ๓๐ - ๔๐ ปี และยิ่งนับวัน ระบบการส่งเสริมและพัฒนาครู ก็ยิ่งผิดพลาดมากขึ้นๆ    เพราะเป็นระบบที่แยกตัวครูออกจากศิษย์    ไม่ให้แรงจูงใจครูด้วยผลงานหรือผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของศิษย์    และที่ร้ายยิ่งกว่านั้น คือไม่ให้เกียรติครู

บาปจากการไม่ให้เกียรติครูโดยระบบการบริหารการศึกษาในปัจจุบัน ส่งผลให้คุณภาพการศึกษาไทย ตกต่ำ    ดังคำอธิบายในบันทึกนี้

สรุปว่า การประชุม ๒ ชั่วโมง ต้องการขับเคลื่อน ๓ เรื่อง    คือ การผลิตคนให้ตรงความต้องการ ของนายจ้าง    การพัฒนา ICT เพื่อการเรียนรู้   กับเรื่องการศึกษาทางเลือก

ในบรรยากาศเช่นนี้ ผมนึกถึงคุณมีชัย วีระไวทยะ ทุกที    หากท่านนั่งใกล้ผม และมีคนเสนอว่า ต้องผลิตคนให้ตรงความต้องการของนายจ้าง    ท่านจะกระซิบบอกผมว่า คนไทยเพียง 30% เท่านั้น ที่เป็นลูกจ้าง

ท่านเห็นไหม ว่าการประชุมในทำเนียบรัฐบาลเอื้อผลประโยชน์ของใคร    ผมไม่คิดว่า คนจัดการประชุมจงใจ   แต่น่าจะเป็นเพราะการประชุมนี้ลึกซึ้งในระดับ skin deep มากกว่า

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๘ ก.ย. ๕๖

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2013 เวลา 09:29 น.