คำนำ หนังสือ “อุดมศึกษาอังกฤษ : สะท้อนความคิดจากการดูงาน”

วันเสาร์ที่ 07 ธันวาคม 2013 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

คำนำ

 

หนังสือ อุดมศึกษาอังกฤษ : สะท้อนความคิดจากการดูงาน

 

วิจารณ์ พานิช

...............

 

 

หนังสือ อุดมศึกษาอังกฤษ : สะท้อนความคิดจากการดูงานเล่มนี้รวบรวมจากบันทึก ที่เผยแพร่ใน บล็อกwww.gotoknow.org/posts?tag=Academic%20Development โดยเขียนเป็นตอนๆ รวม ๑๐ ตอน    สะท้อนการเรียนรู้และความคิดคำนึงของผม ที่ได้จากการร่วมคณะดูงานด้านการพัฒนาอุดมศึกษา ในประเทศสหราชอาณาจักร   ระหว่างวันที่ ๘ - ๑๓ กันยายน ๒๕๕๖ จัดโดยสถาบันคลังสมองของชาติ   โดยที่การดูงานครั้งนี้เน้น ๒ เรื่อง   คือ (๑)​ การพัฒนาวิชาการและพัฒนาอาจารย์ ด้านการจัดการเรียนการสอน (Scholarship of Teaching and Learning)   และ (๒)​ การพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ในระบบอุดมศึกษา

ขอย้ำว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่รายงานการดูงาน    ไม่ใช่รายงานสาระที่ได้จากการดูงาน    แต่เป็นบันทึกความคิดคำนึง หรือการสะท้อนความคิด (reflection) ที่เกิดขึ้นจากการไปดูงาน    สาระในหนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่ “สาระความจริง” แต่เป็น “สาระการตีความ”    ซึ่งจะเจือปนความเชื่อหรืออคติของผู้เขียนอยู่ด้วย    ท่านผู้อ่านจึงพึงอ่านอย่างมีวิจารณญาณ

ความประทับใจ หรือความสะเทือนใจ ที่ผมได้รับ จากการร่วมคณะดูงานนี้ คือ ระบบอุดมศึกษาของสหราชอาณาจักรมีความเป็นพลวัตสูงมาก   อันเป็นผลจากกลไกการจัดการระบบ หรือกลไกสร้างสรรค์ หรือสร้างนวัตกรรมในระบบอย่างต่อเนื่อง ของรัฐบาล และของกลไกต่างๆ ของภาครัฐ ที่ซับซ้อน    แต่ทำงานอย่างมีการสนธิพลัง (synergy) กัน อย่างซับซ้อน แต่เกิดผลสัมฤทธิ์ดีมาก    โดยเขาเน้นจัดการโดยร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์หรือเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่    แล้วปล่อยให้กลไกต่างๆ รวมทั้งตัวสถาบันอุดมศึกษาเอง มีอิสระในการเลือกวิธีดำเนินการของตนเอง   ในบรรยากาศที่มีทั้งความร่วมมือและการแข่งขัน

ผมเชื่อว่าวิธีการจัดการการเปลี่ยนแปลงในระบบอุดมศึกษาของสหราชอาณาจักรเป็นแนวทางที่ถูกต้อง และได้ผล    แตกต่างจากวิธีควบคุมสั่งการแบบอำนาจรวมศูนย์ที่ประเทศไทยใช้อยู่    และพิสูจน์มาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว ว่าไร้ผล    มีแต่จะทำให้ระบบอุดมศึกษาของเราล้าหลัง

ด้วยความสะเทือนใจดังกล่าวผมจึงเขียนบันทึกชุดนี้ เพื่อบอกแก่สังคมไทย    โดยผมไม่ยืนยันว่าสิ่งที่ผมบอก จะเป็นแนวคิดหรือวิธีการที่ถูกต้อง    ผู้อ่านต้องพินิจพิจารณาเอาเอง    และจะยิ่งดี หากท่านเลือกเอาประเด็นที่สอดคล้องหรือเป็นที่ต้องการของสถาบันของท่าน    นำเอาไปปรับใช้ดำเนินการให้เหมาะสมต่อบริบทของท่าน    แล้วนำผลมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน    ก็จะเกิดกระบวนการและขบวนการปรับเปลี่ยนอุดมศึกษาไทย    ที่จะทรงคุณประโยชน์ต่อบ้านเมืองของเราเป็นอย่างยิ่ง

ผมขอขอบคุณสถาบันคลังสมองของชาติ ที่เห็นคุณค่าของบันทึกชุดนี้   และรวบรวมจัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มเล็กที่ท่านถืออยู่นี้    ผมตั้งความหวังว่า การเผยแพร่แนวความคิดนี้ จะกระตุ้นให้เกิดการลงมือทำ เพื่อสร้างสรรค์เปลี่ยนแปลงระบบอุดมศึกษาของเรา    อย่างน้อยก็ในด้านวิชาการว่าด้วยการเรียนรู้ และด้านผู้ประกอบการเพื่อสังคม

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๖

 

 

ขอเพิ่มเติมว่า  การดูงานเพียง ๕ วัน   น่าจะได้ความรู้เพียงกระผีกเดียว ของอุดมศึกษาอังกฤษ    และเสี่ยงต่อการมองแบบไม่รู้จริงเป็นอย่างยิ่ง

 

หนังสือเล่มนี้ download ได้ฟรีจาก เว็บไซต์ ของสถาบันคลังสมองฯ www.knit.or.th

 

วิจารณ์ พานิช

๓๑ ต.ค. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 07 ธันวาคม 2013 เวลา 23:31 น.