ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๔๙. แพทย์เยอรมันกับการก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

วันเสาร์ที่ 07 ธันวาคม 2013 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

ในการประชุมคณะกรรมการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เมื่อวันที่ ๒๓ ต.ค. ๕๖ Professor Bert Sakmann กรรมการท่านหนึ่ง ได้นำเอกสารต้นฉบับแปลบันทึกส่วนหนึ่ง    ของ Dr. Friedrich Schaefer ระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๕๒  ถึง๑๐ สิงหาคม ๒๔๕๖ มาให้อ่าน    โดยท่านถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๕๗    เพราะโรคโลหิตเป็นพิษ ที่ติดจากการผ่าตัดผู้ป่วย

อ่านแล้วได้ความรู้เรื่องสภาพบ้านเมืองในสมัยร้อยปีก่อน    ได้ตระหนักสภาพการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างชาติอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน ในการมีอิทธิพลเหนือผู้บริหารประเทศไทย    และที่สำคัญอย่างยิ่ง ได้สัมผัสความล้าหลังของการแพทย์แผนตะวันตกในประเทศไทย

สภาพโรคภัยไข้เจ็บเมื่อร้อยปีก่อนคือ อหิวาตกโรค (ระบาดประจำปี) จากการขาดแคลนน้ำสะอาด   มาลาเรีย (พบน้อยในเมืองบางกอก  แต่เป็นปัญหามากในหัวเมือง)   ไข้ทรพิษ (คนไม่นิยมปลูกฝี)   โรคเหน็บชา   ขาดแคลนความสามารถในการรักษาด้วยการผ่าตัดอย่างถูกสุขลักษณะ    และชาวบ้านไม่ศรัทธาการรักษาที่โรงพยาบาล

ศาสตราจารย์ แบร์ท ซัคมานน์ ถึงกับเอ่ยกับผมว่า    ไม่น่าเชื่อว่าระบบบริการสุขภาพของไทย จะก้าวหน้าเท่าเทียมกับตะวันตกในขณะนี้   โดยที่เมื่อร้อยปีก่อนเราอยู่ที่ศูนย์

บทแปลบันทึกชุดนี้ รวมทั้งบทส่งท้าย ที่เป็นความเห็นของ ศาสตราจารย์ แบร์ท ซัคมานน์ (ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยา หรือสาขาการแพทย์)    จะตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกฉลอง ๑๐๐ ปีโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในปีหน้า

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๔ ต.ค. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 07 ธันวาคม 2013 เวลา 23:34 น.