อวสานของการสอนในชั้นเด็กเล็ก

วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม 2013 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์
การให้เด็กเรียนวิชาเร็ว โดยที่สมองยังไม่พร้อม จะก่อความเครียด ความเครียดนี่แหละ เป็นพิษร้ายต่อพัฒนาการของสมองส่วนที่ว่าด้วยการเรียนรู้และความจำ คือ ฮิปโปแคมปัส

อวสานของการสอนในชั้นเด็กเล็ก

บทความเรื่อง The Death of Preschool เขียนโดย Paul Tullis     ตีพิมพ์ในนิตยสาร Scientific American ในปี ค.ศ. 2011    และพิมพ์ซ้ำในหนังสือ The Science of Education ในปี 2012  บอกว่า การสอนวิชาในชั้นเด็กเล็กเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์   แทนที่จะให้ผลดี กลับก่อผลร้ายต่อชีวิตของเด็กในภายหน้า

นี่คือผลงานวิจัย ที่บอกว่าผู้คนโดยทั่วไปมักเข้าใจผิด    อยากให้ลูกอ่านหนังสือออกเร็วๆ    แล้วสร้างแรงกดดันให้โรงเรียนชั้นเด็กเล็กและอนุบาลต้องเน้นสอน   การจัดกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเด็กเล็ก ที่ควรจัดแบบ Play-Based Learning   จึงกลายเป็น Academic-Based Learning ซึ่งเป็นพิษต่อพัฒนาการของ สมองเด็ก

เขาบอกว่าในช่วงต้นถึงอายุ ๗ ขวบ เด็กควรเรียนจากการเล่า   เพื่อฝึกฝนพัฒนาการของร่างกาย และด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ด้านอารมณ์และสังคม   จากการที่เด็กลงมือทำสิ่งต่างๆ เอง ได้สัมผัสสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง

เขายกตัวอย่างที่ไปพบด้วยตนเอง (ในรัฐแคลิฟอร์เนีย) ที่พ่อ (ผู้มีฐานะร่ำรวย) ของเด็กบอกว่า ตนเลือกส่งลูกเข้าโรงเรียน ก เพราะสอนให้เด็กเรียนรู้ได้เร็ว    เมื่อไปเยี่ยมโรงเรียน ก ก็พบว่าเขาประกาศว่า จัดการเรียนแบบ มอนเตสซอรี่    คือให้เด็กเรียนแบบจับต้องเล่นของต่างๆ   แต่เมื่อเข้าไปสังเกตกระบวนการ เรียนรู้ในชั้นเรียนก็พบว่า เป็นการเรียนแบบ Teacher-Directed (Passive Learning)   ไม่ใช่แบบ Student-Directed (Active Learning) อย่างในอุดมการณ์ ของ มอนเตสซอรี่

เขาบอกว่า การให้เด็กเรียนวิชาเร็ว โดยที่สมองยังไม่พร้อม จะก่อความเครียด    ความเครียดนี่แหละ เป็นพิษร้ายต่อพัฒนาการของสมองส่วนที่ว่าด้วยการเรียนรู้และความจำ คือ ฮิปโปแคมปัส

การเรียนโดยครูสอนวิชาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก จะปลูกฝังความเป็น “ผู้ตาม” ตั้งแต่เด็ก    โดยเด็กจะคิด และทำตามที่ครูสอน    แต่การเรียนแบบเล่น หาวิธีการต่างๆ เอง จะปลูกฝังความเป็นผู้นำ ความเป็นตัวของตัวเอง และความคิดสร้างสรรรค์

เขายกตัวอย่างผลงานวิจัย ๒ ชิ้น    ชิ้นแรกเป็นของ Alison Gopnik และคณะแห่ง UC Berkeley    บอกว่า ได้ทดลองให้เด็กเล็กเล่นตุ๊กตาที่ร้องเพลงได้    โดยแบ่งเด็กออกเป็น ๒ กลุ่ม    กลุ่มที่ ๑ ครูสอนวิธีเล่นให้ โดยต้องมีหลายขั้นตอนตุ๊กตาจึงจะร้องเพลง    กลุ่มที่ ๒ ครูแกล้งบอกว่าตุ๊าตานี้ร้องเพลงได้ แต่ครูยังไม่รู้ว่าทำ อย่างไรตุ๊กตาจึงจะร้องเพลง   ผลคือเด็กกลุ่มแรกทำตามที่ครูสอนได้ แต่ต้องทำหลายขั้นตอนตามที่ครูสอน     ส่วนกลุ่มที่ ๒ ค้นพบว่าทำเพียง ๒ ขั้นตอน ตุ๊กตาก็ร้องเพลงแล้ว    ผมค้นบทความคล้ายกันของ Alison Gopnik ที่นี่

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง เป็นของ Laura Schultz และคณะแห่ง MIT   ทดลองให้เด็กเล่นตุ๊กตาที่เปล่งเสียง และทำอย่างอื่นได้หลายอย่าง   โดยแบ่งเด็กออกเป็น ๒ กลุ่ม   กลุ่มที่ ๑ ครูสอนวิธีเล่น ทำให้ตุ๊กตาเปล่งเสียง    กลุ่มที่ ๒ ครูไม่สอนวิธีเล่น   พบว่าเด็กกลุ่มแรกเล่นให้ตุ๊กตาร้องได้เท่านั้น   แต่กลุ่มที่ ๒ เล่นตุ๊กตาได้หลายอย่าง

ผลงานวิจัยทั้งสองบอกเราว่า การสอนวิธีการโดยตรง ปิดกั้นความอยากรู้ และความสร้างสรรค์ของเด็ก

ผลงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งเป็นเรื่องการเรียนรู้ภาษาและคำศัพท์ ในเด็กอายุ ๑ - ๒ ปี บันทึกคำพูดโต้ตอบ ระหว่างพ่อแม่กับเด็กอย่างละเอียด    พบว่าไม่มีการสอนโดยตรงเลย   แต่เด็กได้เรียนรู้ถ้อยคำอย่างมากมาย   จากการเล่าเรื่อง การเล่น  ร้องเพลง  เล่าเรื่องตลก   ไม่ใช่จากการสอนโดยตรง

การเล่น ทำให้เด็กได้ฝึกใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กๆ ของมือและส่วนอื่นๆ ที่เรียกว่า fine motor   เช่นการลากเส้น วาดรูป ตัดกระดาษ    ช่วยให้เด็กได้ฝึกประสานการรับรู้ละเอียดระหว่างมือกับตา   ช่วยกระตุ้นพัฒนาการของสมอง   ผลการวิจัยบอกว่าการมีทักษะดังกล่าวดี   เป็นตัวทำนายผลสัมฤทธิ์ ของการเรียนในอนาคต

หลักฐานว่า การให้เด็กเรียนวิชาตั้งแต่ยังเล็ก ก่อผลร้ายต่อชีวิตเด็กมาจากผลการวิจัยของ Lawrence Schweinhart และคณะ   โดยติดตามศึกษาเด็กอายุ ๓ - ๔ ปีที่เป็นเด็กยากจน    ไปจนอายุ ๒๓ ปี    ประมาณครึ่งหนึ่งเข้าเรียนชั้นเด็กเล็กที่สอนวิชาเข้มข้น   อีกครึ่งหนึ่งเรียนในโรงเรียนเด็กเล็กแบบ play-based   พบว่าเกือบครึ่งของเด็กกลุ่มแรกมีชีวิตที่มีปัญหาทางอารมณ์   ปัญหานี้มีในเด็กกลุ่มหลังเพียงร้อยละ ๖ เท่านั้น    เด็กกลุ่มหลังมีอัตราถูกจับกุมจากการก่อปัญหาความรุนแรงต่ำกว่า   และระหว่างเรียนได้รับการวินิจฉัยว่า มีปัญหาทางอารมณ์ ต้องเข้าเรียนในชั้นเรียนของเด็กพิเศษต่ำกว่า

เขาตั้งข้อสงสัยว่า   การให้เด็กเรียนวิชาตั้งแต่ยังเล็กเกินไป   จะสร้างรอยแผลถาวรให้แก่สมองเด็ก

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ธ.ค. ๕๖

 

 

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย