คำนิยม หนังสือ การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ : 7 หลักการสร้างนักเรียนรู้แห่งอนาคตใหม่

วันพุธที่ 08 มกราคม 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

คำนิยม

หนังสือ การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ : หลักการสร้างนักเรียนรู้แห่งอนาคตใหม่

 

วิจารณ์ พานิช

................

 

 

การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ : 7 หลักการสร้างนักเรียนรู้แห่งอนาคตใหม่เป็นหนังสือที่ “ครูเพื่อศิษย์” ทุกคนต้องอ่าน   เพราะท่านจะได้ความรู้และเทคนิคช่วยเหลือศิษย์ ให้เรียนง่ายและสนุกขึ้น    และที่สำคัญยิ่งคือ เรียนแล้วรู้จริง (เกิดความสันทัด - mastery)    และพัฒนาเป็นคนที่กำกับการเรียนรู้ของตนเองได้    ซึ่งจะมีส่วนสร้างอนาคตให้แก่ศิษย์อย่างประมาณค่ามิได้

เมื่อท่านอ่านหนังสือ การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ : 7 หลักการสร้างนักเรียนรู้แห่งอนาคตใหม่ เล่มนี้   ท่านจะเข้าใจปัญหาในการเรียนหลายอย่างของศิษย์ ที่ท่านกำลังเผชิญอยู่    และเข้าใจที่มาที่ไปของมัน    ปัญหาจะกลายเป็นความท้าทาย ความสนุกสนานในการประยุกต์ใช้ความรู้และเทคนิคใหม่ ที่เรียนรู้จากหนังสือ    แล้วท่านจะพบว่า ท่านสามารถช่วยเหลือนักเรียนที่เรียนอ่อน ให้กลายเป็นนักเรียนที่เรียนอย่างมีชีวิตชีวา    และในที่สุดประสบความสำเร็จในการเรียน

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ในภาคภาษาอังกฤษในลักษณะที่อ่านแล้ววางไม่ลง    และคิดว่าครู-อาจารย์ไทยควรรู้เรื่องราวเกี่ยวกับกลไกการเรียนรู้ ที่สังเคราะห์มาจากผลการวิจัยด้านจิตวิทยาการเรียนรู้สมัยใหม่    ตามที่นำเสนอในหนังสือ    จึงได้ตีความออกเผยแพร่ใน บล็อก Gotoknow    เป็นบันทึกรวม ๑๖ ตอน ซึ่งสามารถอ่านได้ที่ http://www.gotoknow.org/posts?tag=ambrose และต่อมา มูลนิธิสยามกัมมาจล ได้รวบรวมพิมพ์เป็นหนังสือ ชื่อ การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร ออกเผยแพร่   โดยที่สามารถ ดาวน์โหลด หนังสือเล่มนี้ได้ฟรีที่  http://www.scbfoundation.com/news_publish_detail.php?cat_id=6&nid=880

ในช่วงเวลาประมาณ ๑ ปี ที่ผมรู้จักหนังสือเล่มนี้ ผมได้นำสาระจากหนังสือไปพูดในที่ต่างๆ มากมาย    รวมทั้งได้ปรารภกับหลายท่านว่า อยากให้มีการแปลออกเผยแพร่ต่อสังคมไทย    ผมจึงยินดียิ่ง เมื่อทราบว่าสำนักพิมพ์ openworlds กำลังดำเนินการแปลหนังสือเล่มนี้    และได้ปวารณาตัวไว้ว่า ยินดีเขียนคำนิยมให้ หากต้องการ

หนังสือ การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ : 7 หลักการสร้างนักเรียนรู้แห่งอนาคตใหม่ แปลจากต้นฉบับชื่อ How Learning Works : 7 Research-Based Principles for Smart Teaching    ที่ผู้เขียนสังเคราะห์มาจากผลงานวิจัยจำนวนนับพันชิ้น    สรุปเป็นหลักการ ๗ ข้อ สำหรับครู-อาจารย์ ใช้เป็นหลักในการจัดการเรียนรู้ ให้ศิษย์เรียนได้ผลดี    ทำให้ครูจัดการเรียนรู้อย่างมีหลักการ   ช่วยให้ศิษย์เรียนรู้ได้อย่างมีขั้นตอน   เรียนแล้วรู้จริง (Mastery Learning)   และสามารถกำกับการเรียนรู้ ของตนเองได้ (Self-Directed Learner)    ซึ่งจะมีคุณูปการต่อการเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learner)

แต่ละบทของหนังสือ เริ่มด้วยฉากสถานการณ์ ๒ สถานการณ์    ที่สะท้อนปัญหาในการเรียนการสอน    ตามมาด้วยคำอธิบาย ที่อ้างอิงผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก    เพื่อบอกวิธีการจัดการเรียนรู้ของครูอาจารย์    ที่จะช่วยให้ศิษย์ไม่เกิดปัญหาอย่างในฉากสถานการณ์    และในตอนท้ายของแต่ละบท มีสรุปใจความสำคัญของบทนั้น    ช่วยให้ผู้อ่านติดตามสาระสำคัญได้ง่ายขึ้น    ถือได้ว่า เป็นวิธีเขียนหนังสือที่ทำเรื่องยาก ให้เข้าใจง่าย ได้เป็นอย่างดี

หลักการ ๗ ข้อ เพื่อการจัดการเรียนรู้อย่างชาญฉลาด ได้แก่

๑ พึงเอาใจใส่ความรู้เดิม หรือพื้นความรู้ ของนักเรียน/นักศึกษา

๒. การจัดระเบียบความรู้ มีผลต่อการเรียนรู้

๓. พึงเอาใจใส่แรงจูงใจต่อการเรียน   และรู้จักสร้างแรงจูงใจแฝงหรือแทรกอยู่ในกระบวนการสอน (แบบไม่สอน)

๔. การจัดการเรียนรู้ ให้นักเรียน/นักศึกษา เรียนแบบรู้จริง (Mastery)   ซึ่งในหนังสือเล่มนี้เรียกว่า การพัฒนาความสันทัด

๕. พึงเอาใจใส่การฝึกฝน (Practice) และการป้อนกลับ (Feedback)

๖. พึงเอาใจใส่พัฒนาการของนักศึกษา และบรรยากาศของการเรียนรู้

๗. การพัฒนานักศึกษาให้เป็นผู้เรียนที่กำกับการเรียนรู้ของตนเองได้

 

จากการนำเรื่องราวในหนังสือนี้ไปบรรยายให้ครู-อาจารย์ฟัง    ผมพบว่าเรื่องราวความรู้และวิธีการ ในหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องใหม่ สำหรับครู-อาจารย์ไทย    การตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือ การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ : 7 หลักการสร้างนักเรียนรู้แห่งอนาคตใหม่ เล่มนี้จึงมีประโยชน์ต่อวงการศึกษาไทยเป็นอย่างยิ่ง

ข้อความในหนังสือ การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ : 7 หลักการสร้างนักเรียนรู้แห่งอนาคตใหม่ มาจากการแปลจากภาคภาษาอังกฤษ    แตกต่างจากข้อความในหนังสือ การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร ซึ่งผมตีความและเขียนขึ้นแบบสะท้อนความคิด (Reflection) จากการอ่านหนังสือ How Learning Works    ดังนั้นการอ่านหนังสือสองเล่มนี้จึงให้คุณค่าและสาระแตกต่างกัน   และไม่ทดแทนกัน

ผมขอขอบคุณคุณ วันวิสาข์ เคน ที่ได้ทุ่มเทอุตสาหะแปลหนังสือที่มีค่ายิ่งเล่มนี้    และขอบคุณ สำนักพิมพ์ openworlds และทุกฝ่ายที่ร่วมกันสนับสนุนการจัดพิมพ์ออกเผยแพร่แก่สังคมไทย     รวมทั้งขอขอบคุณที่ให้เกียรติผมเขียนคำนิยม    ผมเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้จะมีคุณค่าต่อสังคมไทยและขายดี เท่าเทียมกับหนังสือ ทักษะแห่งอนาคตใหม่ : การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ ๒๑ ที่เป็นหนังสือขายดีของสำนักพิมพ์นี้

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓ ธันวาคม ๒๕๕๖

........................

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 08 มกราคม 2014 เวลา 07:51 น.