ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๗๓. ระลึกชาติด้านการพัฒนาคุณภาพ

วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์

โชคดีจริงๆ ที่ผมได้รับเชิญไปรับใช้บ้านเก่า ในวันที่ ๒๙ พ.ย. ๕๖   บ้านเก่าในที่นี้คือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ท่านคณบดี คือ รศ. นพ. สุธรรม ปิ่นเจริญ แสดงเจตนารมณ์ต้องการให้ผมไปร่วมงานเต็มที่ จองวันไว้ล่วงหน้ากว่า ๖ เดือน      โดยให้เจ้าหน้าที่ขอวันที่ผมว่าง สามารถไปร่วมได้ตลอดวัน   ตั้งแต่ ๘.๓๐ น. ถึง ๑๖.๓๐ น. ซึ่งเอาเข้าจริง งานเลิก ๑๗ น.   เป็นการจัดงานในวันที่มหาวิทยาลัยประกาศปิดการเรียนการสอน เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง    ว่ารัฐบาลทักษิณที่มียิ่งลักษณ์เป็นหุ่นเชิด หมดความชอบธรรม ที่จะบริหารประเทศแล้ว

เป็นธรรมชาติของคนที่เป็นแพทย์ และวัฒนธรรมองค์กรของคณะแพทยศาสตร์ ที่เราทำงานในวันหยุดกันจนเคยชิน    วันนี้จึงมีคนมาร่วมประชุมตามปกติ    และแขกสำคัญที่คณะแพทยศาสตร์เชิญมาร่วม คือคณบดีคณะวิทยาศาสตร์  คณบดีคณะเภสัชศาสตร์  หัวหน้าภาควิชาด้านปรีคลินิก (สังกัดคณะวิทยาศาสตร์)  ผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตรศึกษา รพศ. หาดใหญ่   และ ผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตรศึกษา รพศ. ยะลา    ต่างก็มาร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง    โดยท่านคณบดีสุธรรมเผยไต๋ภายหลังว่า    ใช้ชื่อผมเป็นโฆษณาดึงดูด

ชื่องานนี้อย่างเป็นทางการคือ การประชุมคณะกรรมการพัฒนาและประกันคุณภาพงานของภาควิชา ครั้งที่ ๘๖ (๔/๒๕๕๖) เรื่อง Competency based learning สำหรับการผลิตแพทย์ในศตวรรษที่ ๒๑ ชื่อนี้ขลังมาก ในความรู้สึกของผม    สะท้อนความมุ่งมั่นในการทำงานทุกด้านอย่างมีคุณภาพ    ยึดมั่นในการพัฒนาคุณภาพงาน อย่างต่อเนื่อง

โปรดสังเกตว่า กิจกรรมพัฒนาและประกันคุณภาพงานของภาควิชานี้ ดำเนินการมาอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่องมากว่า ๒๑ ปีแล้ว    เป็นวัฒนธรรมองค์กร    คิดดำเนินการขึ้นเอง เพราะมีผลดีต่องานของคณะ    ไม่ใช่ทำงานพัฒนาคุณภาพเพราะได้รับคำสั่งจากภายนอก

ทำให้ผมกลับมาบ้าน และรู้สึกภูมิใจในชีวิตการทำงานช่วงหนึ่ง    ที่การตั้งความหวัง ว่าจะทุ่มเทชีวิต ต่อสู้ เพื่อวางรากฐานวัฒนธรรมองค์กร ในด้าน CQI (Continuous Quality Improvement) ได้เกิดผลอย่างแท้จริง    ทำให้ผมมีความสุขมาก

ขอหมายเหตุไว้เป็นอุทาหรณ์ สำหรับคนที่มุ่งมั่นทำงานสร้างสรรค์ให้แก่องค์กร หรือให้แก่สังคม    ว่าจะต้องต่อสู้ฟันฝ่า    และอาจต้องเจ็บปวด   อย่างที่ผมเคยเจ็บปวดมาแล้ว    คือ เพราะความมุ่งมั่นสร้างองค์กรพัฒนาคุณภาพต่อเนื่องนี้    ทำให้ผมถูกคณาจารย์ในคณะแพทย์ปฏิเสธ ไม่ให้ดำรงตำแหน่งคณบดีวาระที่สอง ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒    แต่โชคดี ที่ความล้มเหลวส่วนบุคคลในระยะสั้น    ไม่ได้บดบังความสำเร็จในระยะยาวขององค์กร    ทำให้คณะแพทยศาสตร์แห่งนี้ ได้พัฒนาวัฒนธรรมคุณภาพ มาอย่างต่อเนื่อง    เป็นที่ยกย่องไปทั่วประเทศ    และนาฬิกาข้อมือที่ผมแขวนอยู่ในปัจจุบัน ก็เป็น Limited Edition ที่จัดทำขึ้นฉลองการได้รับ รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (TQC)  (Thailand Quality Class)  เป็นหน่วยราชการแห่งแรกและแห่งเดียว    เป็นนาฬิการาคาถูกๆ แต่มีคุณค่ายิ่งต่อผม

การประชุมวันนี้ กำหนดให้แต่ละภาควิชามานำเสนอ การดำเนินการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน   จะเห็นว่า คณะแพทยศาสตร์แห่งนี้ จับงานหลักทุกเรื่องเข้าสู่ระบบพัฒนาคุณภาพหมด    เราทำเรื่องนี้ก่อนจะมี TQF เกือบ ๒๐ ปี    และก่อนจะมี สมศ. นานหลายปี    กระบวนการพัฒนาคุณภาพ สำหรับบุคลากรของหน่วยงานนี้ ไม่ใช่ยาขม   แต่เป็นความท้าทายร่วมกันของทุกคนในองค์กร    อย่างที่ผมไปเห็นความกระตือรือร้น   ในการนำเอาหลักการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ มาเป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพของการเรียนการสอน    เพื่อให้ได้แพทย์ที่มีคุณภาพ ในศตวรรษที่ ๒๑

ฟังแล้ว เห็นชัดเจนว่า มีผู้เอาใจใส่เรื่องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนรู้ สู่ Teach less, Learn more   ลดจำนวนชั่วโมงบรรยาย   อย่างชัดเจน   มีคนอ่านหนังสือ How Learning Works เอามาอ้างอิงด้วย

ผมไปเห็นวิธีทำงานเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ด้านการเรียนรู้ หรือด้านการเรียนการสอน อย่างเป็นระบบ    มีการทำงานร่วมกันระหว่างภาควิชา ใน block ต่างๆ ของการเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์    ผมรู้สึกแปลกใจ ที่ภาควิชา “ยอม” กันได้    เพราะเป็นที่รู้กัน ว่า อาจารย์ในโรงเรียนแพทย์มีธรรมชาติ เป็นคนมีอัตตาสูง    และอัตตาอย่างหนึ่งคือ ถือว่าวิชาของตนสำคัญที่สุด    แต่ที่ผมไปเห็น (หลังจากห่างไปนานกว่า ๒๐ ปี) มีการดำเนินการเป็น block ของการเรียน   ที่จัดการเรียนการสอนร่วมกันหลายภาควิชาได้    สะท้อนให้เห็นว่า อัตตาในเรื่องความสำคัญของวิชา ได้ยอมให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้ของนักศึกษา สำคัญกว่า    นี่คือภาพสะท้อน student-centered education   ที่น่าชื่นชมยิ่ง

การเรียนรู้ของศิษย์ สำคัญกว่าศักดิ์ศรีของวิชา หรือศักดิ์ศรีของภาควิชา

การเรียนรู้ของศิษย์    เพื่อจบออกไปเป็นแพทย์ที่มีคุณภาพ    มีสมรรถนะ (Competencies) การเป็นแพทย์ที่เหมาะสมต่อการทำงานในระบบสุขภาพไทย    เป็นเป้าหมายสำคัญที่สุด ในเรื่องคุณภาพการศึกษา    ตรงตามหลักการ Competency-Based Medical Curriculum in the 21st Cetury

เป็นการระลึกชาติที่ให้ความสุขยิ่ง

บันทึกนี้ ควรอ่านร่วมกับบันทึกที่ลงในวันเดียวกันนี้ ใน บล็อก www.gotoknow.org/blog/council

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑ ธ.ค. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม 2014 เวลา 22:00 น.