เริ่มเรียนวิทยาศาสตร์เร็วขึ้น

วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์
หัวใจอยู่ที่ความสามารถของครูในการจัดการเรียนการสอนแบบ inquiry-based. ซึ่งหมายความว่าต้องฝึกครูด้านวิธีจัดการเรียนรู้แบบนี้. การเพิ่มความรู้ด้านเนื้อหาจะไม่ช่วย

ริ่มเรียนวิทยาศาสตร์เร็วขึ้น

บทความเรื่อง Start Science Sooner เขียนโดย กองบรรณาธิการ  ตีพิมพ์ในนิตยสาร Scientific American ในปี ค.ศ. 2010    และพิมพ์ซ้ำในหนังสือ The Science of Education ในปี 2012  บอกว่า การเริ่มเรียนวิทยาศาสตร์เร็ว โดยที่เป็นวิธีเรียนที่ถูกต้อง สำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้

ผลงานวิจัยบอกว่า เด็กเริ่มมีทัศนคติเชิงลบต่อวิชาวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เรียนชั้นอนุบาล   ดังนั้นทางแก้คือให้เด็กได้เรียนวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ช่วงนั้น   โดยที่ต้องได้เรียนอย่างถูกต้อง

ที่น่าตกใจคือ เด็กจำนวนมากบอกว่าตนเองไม่เก่งวิทยาศาสตร์    นี่เป็นผลการวิจัยในอเมริกา    ในประเทศไทยเป็นอย่างไรไม่ทราบ    เด็กคนไหนมีทัศนคติว่าตนไม่เก่งเรื่องอะไร แล้วหาทางหลีกเลี่ยง การเรียนสิ่งนั้น   เป็นเสมือนการฆ่าตัวตายด้านการเรียนรู้นะครับ   มันทำให้เป็นคนไม่สู้สิ่งยาก ไม่มีความมานะพยายาม เป็นนิสัยไม่ดีติดตัวไปตลอดชีวิต

เขายกตัวอย่าง การทดลองสอนวิทยาศาสตร์ควบกับการสอนภาษา ในเด็กอนุบาล   ทดลองที่ มหาวิทยาลัย Purdue (Purdue Scientific Literacy Project)    เขาบอกว่า จะช่วยทำให้ ถ้อยคำที่เรียนมีความหมาย ทำให้เรียนภาษาได้ดีขึ้น   วิธีการที่ทดลองสอน คือให้เด็กได้เข้าใจว่าวิทยาศาสตร์คือการตั้งข้อสงสัย เพื่อเรียนรู้ ธรรมชาติในโลก   และทุกคนสามารถทดลองทางวิทยาศาสตร์ได้   ถึงตรงนี้ผมคิดว่า เป็นการปลูกฝัง วิธีคิดเชิงวิทยาศาสตร์ (scientific thinking)    ตั้งแต่ชั้นอนุบาลนั่นเอง    ไม่ใช่การสอนวิชาโดยตรง

การสอนเพื่อเป้าหมายนี้ ไม่ต้องการเทคโนโลยีหรูหราราคาแพง (ไม่จำเป็นต้องมี แท็บเล็ต)   ผมเคยไปเห็นที่โรงเรียนบ้านขาแหย่งพัฒนา ที่เชียงราย    ซึ่งสอนแบบมอนเตสซอรี่    เขาให้เด็กอนุบาล ทดลองเอาเกลือใส่ลงไปในน้ำ เพื่อเรียนรู้ว่าเกลือละลายน้ำ    ซึ่งตรงกับในบทความนี้พอดี   เขาแนะนำว่า การอ่านหนังสือที่ไม่ใช่นิยายให้เด็กฟัง ก็ช่วยสร้างความคิดเชิงวิทยาศาสตร์   ทำให้ผมนึกถึงสมัยลูกยังเล็ก ผมจะไปซื้อหนังสือภาพเรื่องสัตว์ มาอ่านกับลูก

เขาแนะนำว่า เด็กอนุบาลก็เรียนโดยทำโครงงาน (PBL) เป็นทีมได้   ทำให้เกิดทักษะหลายด้าน รวมทั้งฝึกตั้งคำถาม และหาคำตอบด้วยตนเอง   ผลการเรียนแบบ PBL ทำให้เกิดการเรียนรู้ดีกว่าการสอน โดยทั่วๆ ไป

หัวใจอยู่ที่ความสามารถของครูในการจัดการเรียนการสอนแบบ inquiry-based    ซึ่งหมายความว่าต้องฝึกครูด้านวิธีจัดการเรียนรู้แบบนี้   การเพิ่มความรู้ด้านเนื้อหาจะไม่ช่วย

เขาบอกว่า เด็กอนุบาลเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่แล้วโดยธรรมชาติ   และจะลองโน่นลองนี่อยู่แล้ว   เพียงแต่เปิดโอกาสให้เท่านั้น เขาก็จะเรียนรู้    บทบาทของการศึกษาวิทยาศาสตร์ในระดับอนุบาลคือ   ส่งเสริมสัญชาตญาณรักการทดลอง เพื่อทำความรู้จักโลกโดยรอบตัว    ให้พฤติกรรมกระตือรือร้น ต่อการเรียนรู้นั้น นำไปสู่การเรียนวิชาวิทยาศาสตร์จริงๆ เมื่อโตขึ้น

ผมขอเสริมว่า ครูต้องรู้วิธีชวนศิษย์ชั้นอนุบาลทำกระบวนการ reflection หรือ AAR หลังการทดลอง   กระบวนการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

และขอเสริมว่า การเรียนแบบ inquiry-based PBL ของเด็กชั้นอนุบาล ก็คือการเล่นนั่นเอง

วิจารณ์ พานิช

๕ ม.ค. ๕๗

 

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม 2014 เวลา 22:25 น.