เทคนิคที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ตลอดเวลา

วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - บทความของ ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท
พิมพ์

เทคนิคที่ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ตลอดเวลา คือการนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอด เช่น เมื่อผมได้อ่านบทความของอาจารย์วิจารณ์ พานิช ผมได้ความรู้ใหม่ๆ ที่ได้จากการอ่านหนังสือของอาจารย์วิจารณ์ แล้วท่านนำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์ และนำเสนอในแนวทางของท่าน บทความของท่านอ้างอิงจากทฤษฎี และประสบการณ์ที่ท่านพบเห็น ผมก็นำมาพิจารณากับทฤษฎีของผมที่ได้จากสิ่งที่ผมปฎิบัติรวมกับประสบการณ์ที่ผมพบเห็น ถ้าตรงกัน ก็เป็นการยืนยันว่าทฤษฎีของผมถูกต้อง แต่ถ้าไม่ตรงกันก็ต้องค้นคว้าเพิ่มเติม หรือแสดงความคิดเห็นกลับไปที่อาจารณ์วิจารณ์ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวคิด ทำให้ได้ความรู้เพิ่มเติม และเป็นการฝึกการใช้เหตุผล ผมถือว่าเป็นการต่อยอดความรู้

ผมถือว่าคนทุกคนที่ผมได้สนทนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ คนรอบตัวผม เป็นครูของผมทั้งสิ้น เจ้านาย ลูกน้อง เพื่อร่วมงาน ลูกค้า เพื่อน คนรู้จัก คนที่ผมให้ความสนใจ ญาติพี่น้อง โดยเฉพาะคนในครอบครัวผม คุณพ่อ คุณแม่ ภรรยา น้อง ลูก ผมเรียนรู้จากทุกคนและทำความเข้าใจกับเขาเหล่านั้น โดยเฉพาะคนในครอบครัวผม ผมศึกษาปฎิกิริยาที่เขามีต่อผมไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือการแสดงออก และนำมาวิเคราะห์ และปรับวิธีการตัวผมเพื่อให้เกิดความสุขกับทุกคน  ทำคู่ไปกับการสอนและให้ความรู้ ผมเชื่อว่าทุกอย่างต้องปรับที่เรา ไม่ใช่คิดว่าเราทำถูก แต่คนอื่นไม่เข้าใจเรา เราต้องเป็นผู้ปรับตัวของเราหาสิ่งบกพร่องในตัวเราปรับวิธีการสื่อสารของเราเพื่อให้เขาเข้าใจ การถ่ายทอดความรู้และความคิดก็เช่นกัน ไม่สามารถบังคับหรือเคี้ยวเข็ญใครให้ยอมรับความรู้จากเราได้ หรือให้ใครคิดเหมือนเราได้ และไม่สามารถตัดสินได้ว่าความคิดของคนนั้นถูก ความคิดของคนนี้ผิด ความอดทนเป็นสิ่งสำคัญมากในการให้ความรู้คน เราไม่สามารถยัดเยียดและให้คนเห็นด้วยกันเราได้เสมอไป ผมไม่โทษคนที่เขาไม่เข้าใจเรา แต่หันมาดูตัวเราเองว่าเราสื่ออย่างไรเขาจึงไม่เข้าใจ และหาทางปรับวิธีและรอเวลาและโอกาส ถ้าโอกาสและเวลายังไม่อำนวย ก็ต้องปล่อยให้ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องไปเร่งรัด

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

21 มีนาคม 2556