การค้าเสรี FTA บทความของ ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๙

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน 2022 เวลา 11:06 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - บทความของ ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท
พิมพ์

การค้าเสรี ( FTA )

เมื่อกลางเดือน กรกฎาคม ผมได้เข้าร่วมสัมมนาในหัวข้อ  FTA มาแน่ ธุรกิจบริการไทย จะอยู่รอดอย่างไร 

 การสัมมนาครั้งนี้จัดโดย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  เป็นการนำเสนอการศึกษาความสามารถทางการแข่งขันการค้าบริการของไทยกับประเทศคู่เจรจา FTA

คณะศึกษาได้แยกการค้าบริการออกเป็น ๖ สาขาประกอบด้วย

๑)     สาขาค้าส่งค้าปลีก

๒)    สาขาคมนาคมขนส่ง

๓)    สาขาการเงิน

๔)    สาขาก่อสร้าง

๕)    สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ

๖)     สาขาการท่องเที่ยว

 

ผู้จัดสัมมนาได้สรุปให้ฟังว่าประเทศไทยเป็นสมาชิกขององค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่

·         สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( ASEAN )

·         ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC)

·         องค์การการค้าโลก (WTO)

ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA)

ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีและข้อผูกพันภายใต้ความตกลงต่างๆ รวมถึงความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ ( The General Agreement on Trade in Services ) ( GATS) ทำให้ประเทศไทยต้องเปิดเสรีตลาดทางด้านการค้าบริการให้กับประเทศสมาชิกต่างๆที่เข้ามาประกอบธุรกิจและอาชีพต่างๆในประเทศมากขึ้น

การเปิดเสรีการค้าบริการอาจส่งผลกระทบต่อภาคบริการของไทยทั้งในด้านบวกและลบ คณะผู้จัดสัมมนาจึงได้ทำการศึกษาเพื่อทราบถึงสถานการณ์ที่แท้จริงของภาคธุรกิจบริการ เพื่อรองรับและเตรียมความพร้อมในการเปิดเสรีที่จะมีขึ้นในเร็ววันนี้

สรุปข้อความในการสัมมนากลุ่มสาขาท่องเที่ยว ประกอบด้วย ๓ ส่วนได้แก่

๑)                         ส่วนของผู้ประกอบการจะต้องมีการรวมตัวกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อต่อสู้กับผู้ประกอบการต่างชาติที่จะเข้ามาทำธุรกิจแข่งขันในประเทศไทย ทางภาครัฐควรจะให้การสนับสนุนด้านเงินทุน

๒)                       ส่วนของบุคลากร ผู้ประกอบการกลัวว่าเมื่อผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย จะดึงตัวพนักงานเก่งๆไปหมดเพราะให้เงินเดือนสูงกว่าทำให้ผู้ประกอบการคนไทยหาพนักงานที่มีคุณภาพได้ยากขึ้น หรือไม่ก็ทำให้อัตราค่าจ้างสูงขึ้น ถ้าพิจารณาในด้านนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับพนักงานคนไทยที่จะได้รายได้ที่สูงขึ้น และทำให้ผู้ประกอบการหันมาลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์มากกว่า ปัจจุบันที่ผู้ประกอบการต่างกดค่าจ้างให้ถูกที่สุดเพราะคิดว่าค่าจ้างเป็นรายจ่าย ไม่ได้คิดว่าค่าจ้างเป็นเงินลงทุนทางธุรกิจอย่างที่ควรจะเป็น ทางภาครัฐจะต้องเน้นความสำคัญที่การศึกษา ต้องให้ความรู้และพัฒนาบุคลากรของเราให้สามารถแข่งขันกับชาวต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในประเทศของเรา ซึ่งจะมีทั้งระดับพนักงานให้บริการ และพนักงานระดับผู้บริหารองค์กร

๓)                        ส่วนของภาครัฐบาล จะต้องเร่งพิจารณาเรื่องกฎหมายต่างๆ ตลอดจนพัฒนาบุคลากรของภาครัฐเองให้มีความรู้และเข้าใจธุรกิจบริการอย่างถูกต้อง ทำงานร่วมกับภาคเอกชนให้มากขึ้น หันมาให้การสนับสนุนภาคเอกชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเรื่องเงินลงทุน การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประชาชนคนไทยโดยรวม พัฒนาการศึกษาให้สร้างคนที่มีคุณภาพ ดูแลเรื่องอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมในทุกระดับงาน เพื่อให้พนักงานมีรายรับเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน  

สรุปผลจากสัมมนา

๑)     เรื่องสัญญา FTA ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ

๒)    ขอให้ภาคเอกชนอย่าไปตื่นกลัวจนเกินเหตุ เพราะจะมีผลทั้งด้าน บวก และ ด้าน ลบ อยากจะให้ทำความเข้าใจและศึกษาติดตามให้ดี  รวมตัวกันในธุรกิจและให้ข้อมูลกับคณะเจรา เพื่อทราบเป็นข้อมูล

ปรับธุรกิจของตัวเองเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด และหาวิธีป้องกันผลกระทบด้านลบที่จะมีมา พร้อมทางเลือกในการแก้ไข

๓)    ส่วนของข้าราชการฝ่ายเจรจาขอให้ศึกษาข้อมูลให้รู้จริง และปรึกษาร่วมกับภาคเอกชนและตั้งเป้าหมายในการเจรจาเพื่อทำให้เราได้ผลกระทบด้าน บวก มากกว่าด้านลบ  โดยคิดถึงผลประโยชน์โดยรวมของประเทศไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งและไปทำให้ส่วนรวมของประเทศเสียหาย ต้องมีความกล้าชี้แจงถึงเหตุและผลให้กับนักการเมืองได้ทราบถึงผลได้และผลเสียในการเจรจาในแต่ละรายการ

 

ความเห็นของผมต่อเรื่องการเปิดการค้าเสรีด้านสาขาท่องเที่ยว ผมคิดว่าไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรมากนัก เพราะปัจจุบันประเทศไทยได้เปิดเสรีให้กับชาวต่างชาติได้เข้ามาลงทุนและทำงานในประเทศเป็นจำนวนไม่น้อย การเปิดเสรีจริงๆผมว่าเราน่าจะได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ โดยเฉพาะประชาชนคนไทยโดยรวม ประชาชนที่เป็นพนักงานกินเงินเดือน จะมีโอกาสได้รายได้ที่มากขึ้น เพราะเกิดการแข่งขันด้านตลาดแรงงาน ผู้ที่มีความสามารถน้อยก็จะต้องปรับตัว เพิ่มความรู้และความสามารถในการทำงานให้กับตัวเองเพื่อหางานที่มีผลประโยชน์ตอบแทนที่เหมาะสมและพอเพียงต่อการยังชีพ แต่ในทางกลับกันเราก็ต้องระวังผู้ประกอบการที่ไปจ้างคนต่างชาติที่สามารถกดค่าแรงให้ต่ำเข้ามาทำงานแทนคนไทย

 

ภาครัฐจะต้องมีการวางแผนในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประชาชนโดยรวม เน้นด้านการศึกษาและพัฒนาคนไทยให้มีประสิทธิ์ภาพและความสามารถในการทำงานที่มีรายได้พอเพียงกับการเลี้ยงชีพในครัวเรือน ให้การสนับสนุนด้านการลงทุนกับผู้ประกอบการคนไทยที่เน้นการลงทุนที่ทรัพยากรมนุษย์ มีการให้ความรู้กับผู้ประกอบการให้ทำธุรกิจแบบยั่งยืน มองผลประโยชน์โดยรวมของประชากรชาวไทย ไม่ใช่เน้นไปที่เฉพาะผู้ประกอบการ

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๙