บทเรียนการดำเนินชีวิตของผู้สูงวัย ตอนที่ ๙

วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2022 เวลา 21:52 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - บทความของ ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท
พิมพ์

บทเรียนในการดำเนินชีวิตของผู้สูงวัย ตอนที่ ๙ (๒๕๕๓-๒๕๕๘)

เดือนเมษายน ๒๕๕๘ เป็นเดือนครบรอบ ๕ ปี ของการสิ้นสุดชีวิตรับจ้าง ผู้เขียนลาออกจากการเป็นผู้บริหารระดับสูงของโรงแรมแห่งหนึ่งที่อยู่มานานกว่า ๑๕ ปี เพื่อไปทำงานให้กับสามีของผู้ที่เคยมีอุปการคุณกับผู้เขียน  หลังจากเข้าไปทำงานที่ใหม่ได้ ๒ เดือน  ทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ ผู้เขียนจึงขอถอนตัวออกมา  เมื่อเดือน เมษายน ๒๕๕๓ อายุ ๖๐ ปี ๒ เดือน ความจริงยังไม่คิดที่จะลาออกจากงานประจำ เนื่องจากยังมีภาระค่าใช้จ่ายประจำในแต่ละเดือน ลูกสาว ๒ คน จบการศึกษาและมีงานทำแล้ว แต่ยังเพิ่งเริ่มตั้งตัว  ส่วนลูกชายคนเล็ก ยังศึกษาอยู่ ภรรยาก็รับราชการเงินเดือนน้อย

ภรรยาได้เตือนให้ผู้เขียนทำสัญญากับผู้ที่มาติดต่อให้ผู้เขียนไปทำงานด้วย แต่ด้วยความเชื่อมั่นตัวเอง จึงไม่ได้สนใจเรื่องสัญญา  ทำให้ทุกอย่างผิดแผน ได้มีการทบทวนระหว่างที่ทำงานอยู่ที่เก่า เงินเดือนถือว่าไม่น้อยจนเกินไป แต่ก็ไม่มากพอกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น (ผู้เขียนทำงานด้วยความรักและสนุกกับการทำงาน จนลืมนึกถึงเงินเดือนตัวเอง ผู้เขียนไม่ได้รับเงินเดือนขึ้นตลอดเวลา 10 กว่าปี ทั้งๆที่ลูกน้องของผู้เขียนได้เงินเดือนขึ้นทุกปี) ผู้เขียนได้รับความไว้วางใจจากเจ้าของ บริหารงานอย่างกับเป็นเจ้าของเอง ทราบว่าผู้เขียนมีหุ้นส่วนอยู่ในบริษัทด้วย แต่ไม่เคยทราบ ว่ามีหุ้นจำนวนเท่าไหร่และมีมูลค่าเท่าใด เมื่อผู้เขียนลาออก เจ้าของขอให้ผู้เขียนลงนามโอนหุ้นลอย ให้กับเจ้าของ ผู้เขียนก็ลงนามให้โดยไม่ได้เรียกร้องใดๆ

จากการทบทวนเรื่องราวต่างๆทั้งหมดทำให้ผู้เขียนตัดสินใจที่จะไม่ไปทำงานประจำให้กับใครอีกแล้ว หันมาตั้งเป้าที่จะเป็นวิทยากร และที่ปรึกษาอิสระ รับบรรยายและให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการด้านโรงแรมและการท่องเที่ยว  โดยคิดเงินค่าตอบแทนไม่มากนัก องค์กรละสองหมื่นบาท ต่อเดือน ถ้าได้ ๓ องค์กร ผู้เขียนก็จะมีรายได้เดือนละ หกหมื่นบาท พอกับค่าใช้จ่ายประจำเดือนของผู้เขียน เหตุการณ์ไม่ได้เป็นอย่างที่ผู้เขียนคิด โดยมีปัจจัยต่างๆดังนี้

ช่วงที่ผู้เขียนทำงานประจำเป็นผู้บริหารงานขององค์กร  ผู้เขียนมีลูกน้องช่วยทำงานประจำ มีเครื่องไม้เครื่องมือครบเครื่อง ผู้เขียนมีเวลาทำสิ่งต่างๆได้มากมาย  คิด วางแผน สั่งงาน ติดตามงาน ออกสังคม เพิ่มเติมความรู้ และเนื่องจากผู้เขียนมีประสบการณ์ในการทำงานในสายอาชีพมาเป็นเวลานาน จึงเชียวชาญและชำนาญงาน รู้ปัญหา และแนวทางต่างๆ สามารถมองเห็นภาพต่างๆได้อย่างชัดเจน เป็นที่ยอมรับของคนในวงการ มีเจ้านายให้การสนับสนุน และข้อสำคัญ ทำงานได้อย่างเต็มที่พอสิ้นเดือนก็ได้รับเงินเดือน ทุ่มเทกับงานของบริษัทได้อย่างเต็มที่  

พอมาทำงานอิสระ  เราต้องทำเองทุกอย่าง ต้องพิมพ์หนังสือเอง ติดต่อและค้นหาทุกอย่างด้วยตัวเอง ไม่มีผู้ช่วย งานวิทยากร และงานที่ปรึกษา ถือเป็นงานใหม่ของผู้เขียน คนยังไม่รู้จัก ยังเป็นมือใหม่หัดขับ ไม่ใช่วิทยากร และที่ปรึกษามืออาชีพ ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป  งานที่ได้ล้วนเป็นงานที่เขาติดต่อเข้ามา และไม่ได้ตั้งราคาตัวเอง ใครเชิญมาก็ไป ไม่ได้พูดถึงค่าตอบแทน งานที่ได้รับเชิญส่วนมากเป็นงานฟรี  จะต้องค้นคว้าหาความรู้เพิ่ม ยังโชคดีที่ผู้เขียนยังมีตำแหน่งเป็นกรรมการอยู่ในคณะกรรมการด้านธุรกิจบริการของ สภาหอการค้า จึงได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมกับกรมเจรจาการค้า และหน่วยงานราชการอื่นๆ ทำให้มีคนรู้จัก และมีโอกาสได้แสดงตัวบ่อยๆ นอกเหนือจากนั้น ยังเป็นกรรมการเลขาธิการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุย์ และเป็นประธานกรรมการวิทยาลัยพณิชยการอินทราชัย งานด้านการท่องเที่ยวและโรงแรมค่อยๆหายไป ทั้งๆที่ได้เขียนบทความมากมายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและโรงแรม มีแต่คนนอกวงการที่สนใจจะสร้างโรงแรม ติดต่อเข้ามาขอคำปรึกษา ได้ให้คำปรึกษาในเบื้องต้นโดยไม่ได้คิดค่าตอบแทน ใดๆทั้งสิ้น ส่วนคนในวงการไม่มีใครติดต่อเข้ามา อาจเป็นได้ที่ไม่ทราบจะติดต่อที่ไหน เนื่องจากผู้เขียนไม่ได้เข้าไปในวงจรของธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมอีกเลยหลังจากลาออกจากงานเดิม ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ หนึ่งในการหาความรู้คือการเข้าร่วมงานสัมมนา และงานอบรมต่างๆ ผู้เขียนจะเข้าร่วมงานสัมมนาและงานอบรมต่างๆทุกงานที่ได้รับเชิญ นอกจากติดงานอื่นที่รับเชิญไว้ก่อนหน้า  แทบไม่มีเวลาว่าง ทำงานหนักกว่าเป็นพนักงานกินเงินเดือน แรกๆก็ไม่ได้คิดอะไรเนื่องจากยังมีเงินเหลือบ้าง แต่พอผ่านไปเดือนก็แล้ว ปีก็แล้ว  รายได้หายไปเป็นจำนวนมาก        ถึงแม้นภาระค่าใช้จ่ายจะน้อยลง เนื่องจาก ลูกทั้งสามคนเรียนจบ และต่างมีงานทำ ภาระค่าใช้จ่ายได้แก่  ค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าซ่อมแซมบ้าน ค่าซ่อมแซมรถยนต์ ค่าน้ำมันรถ ค่าอาหารของคนและค่าใช้จ่ายของสัตว์เลี้ยง เช่นอาหาร และค่ารักษาพยาบาล  ซึ่งไม่มากนัก    แต่ปัญหาอยู่ที่รายได้น้อยกว่ารายจ่าย  หรือบางเดือนมีแต่รายจ่ายแต่ไม่มีรายได้  

อะไรเกิดขึ้นกับชีวิตของผู้สูงวัย ที่ลาออกจากงานที่มีเงินเดือนประจำเกือบเดือนละ แสนบาท เมื่ออายุครบ ๖๐ ปี โดยมีภาระค่าใช้จ่ายที่ติดตามมาประมาณเดือนละ สามหมื่นบาท  เวลาผ่านไป ห้า ปี อะไรเกิดขึ้นกับชีวิตของผู้เขียน ผู้เขียนได้เจออุปสรรค์ และแก้ไขปัญหาการดำเนินชีวิตผู้สูงวัยของผู้เขียนอย่างไร โปรดติดตามอ่านตอนต่อไปในเร็วๆนี้

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

๑๒ เมษายน ๒๕๕๘