บทเรียนจากธนาคารอาคารสงเคราะห์

วันพฤหัสบดีที่ 03 ตุลาคม 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - บทความของ ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท
พิมพ์

บทเรียนจากธนาคารอาคารสงเคราะห์

ผมเป็นลูกค้าเงินกู้ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ตั้งแต่ปี 2540 ได้กู้เงินมาปรับปรุงต่อเติมบ้าน จำนวนเงิน 820,000 บาท (แปดแสนสองหมื่นบาท) โดยมี บ้านและที่ดิน จำนองเป็นประกัน ต่อมาในปี 2544 ผมได้เพิ่มเงินกู้ และได้เพิ่มเงินจำนองเป็นประกันอีก 307,000 บาท รวมเป็นเงินจำนองประกันทั้งสิ้น 1,127,000 บาท โดยได้ผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามเงื่อนไขทุกอย่างโดยไม่มีการผิดสัญญาทั้งจำนวนเงินผ่อนชำระในแต่ละงวดและกำหนดวันผ่อนชำระในแต่ละงวด

ปลายเดือนสิงหาคม 2556 ผมได้โทรปรึกษา ผู้จัดการเขตสำนักงานใหญ่ กทม และปริมณฑล ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อขอเพิ่มเงินกู้ และได้แจ้งว่าจะให้เจ้าหน้าที่ติดต่อผมภายในวันนี้ ซึ่งก็ได้รับการติดต่อกลับมาโดยเจ้าหน้าที่อีกท่าน และได้แจ้งว่า ทางธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้รับการอนุมัติวงเงินจำนวนหนึ่งจากทางรัฐบาลเพื่อให้ทางธนาคารเพิ่มเงินกู้ให้กับลูกค้าชั้นดีในจำนวนเงินที่ไม่เกินวงเงินที่จำนองเป็นประกัน และได้นัดวันให้ผมไปติดต่อทำเรื่องขอกู้กับหัวหน้าฝ่ายสินเชื่อสาขาแจ้งวัฒนะ

วันที่ 9 กันยายน 2556 ผมได้นำเอกสารทั้งหมดที่ต้องใช้ไปพบกับหัวหน้าฝ่ายสินเชื่อสาขาแจ้งวัฒนะตามนัด เจ้าหน้าที่ได้เช็คประวัติของผมและได้แจ้งว่า ผมสามารถกู้ได้จำนวนเงิน 536,717 บาท (ห้าแสนสามหมื่นหกพันเจ็ดร้อยสิบเจ็ดบาท  เนื่องจากผมได้ทำจำนองประกันไว้ในวงเงิน 1,127,000 บาท และขณะนี้ผมได้ชำระหนี้ไปแล้วจนเหลือหนี้คงเหลือ 590,282 บาท หลังจากนั้นไม่ถึง 5 นาที เจ้าหน้าที่คนเดิมก็แจ้งว่าเมื่อเช็คเงื่อนไขแล้วปรากฏว่าผมจะกู้ได้แค่ 7 หมื่นกว่าๆ เนื่องจาก ผมอายุ 63 ปี และไม่มีรายได้ จึงสามารถให้เวลาในการผ่อนชำระได้ไม่เกิน 7 ปี ขณะนี้ผมผ่อนอยู่งวดละ 8,000 บาท เมื่อคำนวณและพิจารณาความสามารถในการผ่อนชำระเงินได้ จึงไม่สามารถให้ผมกู้ได้ในวงเงินที่ได้แจ้งในครั้งแรก

ผมเริ่มสงสัยในขั้นตอนและหลักการในการพิจารณา และได้ยืนยันความต้องการที่จะกู้ตามวงเงินที่แจ้งไว้โดยสามารถผ่อนชำระได้โดยอยู่ในเงื่อนไขไม่เกิน 7 ปี แต่เจ้าหน้าที่ก็อ้างว่าผมไม่มีเอกสารยืนยันว่ามีรายได้ ผมจึงได้มอบเอกสารทั้งหมดและได้อธิบายให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นและผู้ช่วยผู้จัดการสาขาทราบ ซึ่งดูเหมือนกับผู้ช่วยผู้จัดการท่านนั้นจะเข้าใจเป็นอย่างดีและยินดีจะทำเรื่องให้ หลังจากนั้นก็ไม่มีการติดต่อกลับมา จนวันที่ 23 กันยายน ผมได้โทรศัพท์ติดต่อไปที่ผู้ช่วยผู้จัดการที่ดำเนินเรื่องให้ผม แต่ไม่สามารถติดต่อได้ อย่างไรก็ตามได้พูดกับผู้จัดการสาขา และผู้จัดการสาขาแจ้งว่าจะให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ ไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้ใดติดต่อกลับมา ผมจึงได้โทรไปหาผู้จัดการเขต ซึ่งท่านก็แจ้งว่าท่านอยู่นอกสำนักงาน เมื่อกลับเข้าสำนักงานจะตามเรื่องให้ สุดท้ายแล้วปรากฏว่าเป็นเจ้าหน้าที่ท่านอื่นติดต่อกลับมาพูดว่าได้โทรคุยกับทางสาขาแล้ว โดยทางสาขาจะเป็นผู้โทรมาหาผมเอง ผมได้โทรไปหาเจ้าหน้าที่ท่านนั้นอีกแต่ก็ไม่สามารถหาข้อสรุปได้

บังเอิญผมไปชำระค่าประกันสังคมที่ธนาคารกรุงไทย และได้มีโอกาสพบผู้จัดการสาขา ขอคำปรึกษาถึงความเป็นไปได้ในการกู้เงินโดยเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้ผู้จัดการฟัง รวมทั้งปัญหาจากการติดต่อธนาคารอาคารสงเคราะห์ ผู้จัดการได้ให้คำแนะนำที่ดีเป็นประโยชน์ต่อผมมาก ทำให้ผมได้รับเงื่อนไขที่ดีกว่า สะดวกกว่า และเป็นประโยชน์กับผมมากกว่าการติดต่อกับธนาคารอาคารสงเคราะห์มาก ผมหลงผิดคิดว่าธนาคารอาคารสงเคราะห์ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐจะเป็นธนาคารที่ดีและช่วยเหลือประชาชนในเรื่องการกู้เงินโดยใช้ที่ดินและบ้านค้ำประกัน แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผมตาสว่าง และทราบว่าผมสูญเสียสิทธิประโยชน์ของผม อันเนื่องมาจากปัญหาการบริหารจัดการของเจ้าหน้าที่และผู้บริหารของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย หรือการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และผู้บริหารเอง ความจริงผมควรจะหยุดเพียงเท่านี้กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ แต่เมื่อมาคิดถึง คนอื่นๆที่อาจเจอปัญหาเช่นเดียวกับผม และเขาอยู่ในฐานะที่ลำบาก ทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะต้องมาวิพากษ์วิจารณ์ระบบการทำงานของธนาคาร คนทุกคนมีศักดิ์ศรีและคุณค่า แต่กลับถูกคนเพียงไม่กี่คนมากำหนดว่าใครมีคุณค่าอย่างไร มีความสามารถแค่ไหน ถ้าคนกลุ่มนั้นมีการพิจารณาด้วยเหตุผลที่เป็นจริง ก็ยังพออนุโลมเพราะเป็นการกลั่นกรองอย่างมีเหตุผลและเป็นธรรมกับผู้ถูกประเมิน กรณีที่เกิดกับผม ผมไม่สามารถยอมรับผู้ประเมินว่าเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะทำการประเมินผมได้ ผมไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะปัญหาเรื่องความเข้าใจในเนื้องานของพนักงาน ปัญหาเรื่องกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือปัญหาในระดับนโยบายขององค์กร

บทเรียนที่ผมได้รับ ทำให้ผมไม่สามารถยอมรับหลักการและข้อกำหนดที่เจ้าหน้าที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์อ้างดังนี้

1.พิจารณาว่าผมไม่สามารถผ่อนเงินกู้ได้เกินเดือนละ 8,000 บาท โดยอ้างว่าผมเป็นผู้ที่ไม่มีรายได้เนื่องจากไม่มีเอกสารมายืนยัน เชื่อเอกสารมากกว่าประวัติและศักดิ์ศรีของคน  ผมอายุ 63 ปี ย่าง 64 ปี ผมมีผลงานปรากฏและนำมาอ้างอิงได้ ไม่เคยมีประวัติเสียหายด้านการเงิน และด้านใดๆทั้งสิน ไม่เคยมีประวัติเสื่อมเสียชื่อเสียง ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ ขยัน อดทน เป็นคนดีทำงานเพื่อสังคม อย่างแท้จริงไม่ใช่ทำเพื่อเอาชื่อเสียง  ไม่เคยแตะต้องทำงานสีเทา เมื่อลาออกจากงานประจำก็มีตำแหน่งงานหลายตำแหน่งที่เป็นงานเพื่อสังคม ไม่มีรายรับประจำ แต่ก็มีรายได้จากการเป็นวิทยากร และที่ปรึกษา มีทั้งที่มีรายได้และไม่มีรายได้ ผมหันมาทำงานเพื่อสังคมโดยไม่คิดที่จะต้องการผลประโยชน์ของตัวเอง จึงไม่ได้สนใจที่จะเรียกร้องเงินจากค่าดำเนินการหรือค่าตอบแทนใดๆทั้งสิ้น แล้วแต่หน่วยงานหรือคนที่ผมทำงานให้จะพิจารณา ถ้าผมตั้งใจหาเงินจริงๆก็สามารถกลับไปทำงานรับจ้างเป็นผู้บริหารบริษัทต่างๆได้  ผมมีความรับผิดชอบและทำตามเงื่อนไขและข้อสัญญาต่างๆที่ตกลงกันไว้ โดยไม่เคยผิดสัญญาและเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น เช่นประวัติการชำระเงินกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ตลอดระยะเวลา 16 ปี  ชำระเงินครบตามเงินงวด และชำระภายในวันที่กำหนด ไม่เคยผิดนัดและผิดสัญญาใดๆ  และข้อสำคัญคือ ผมใช้บ้านและที่ดินที่ผมอาศัยอยู่เป็นประกันการกู้ มีการทำจำนองประกันในวงเงิน 1,127,000  บาท ทั้งๆที่มูลค่าที่ดินและบ้านมีราคามากกว่า 3,500,000 บาท

ผมอธิบายและนำเอกสารอ้างอิงที่เกี่ยวข้องกับฐานะทางสังคม เช่นตำแหน่งหน้าที่การงาน เอกสารแต่งตั้ง และเอกสารเชิญผมเป็นวิทยากร พร้อมกับหลักฐานต่างๆที่ผมบันทึกไว้ในที่ต่างๆ ที่ปรากฏทั่วไป สามารถสืบค้นและอ้างอิงได้ใน Internet ทั้งในเวปไซด์หลายๆแห่ง และในเฟสบุ๊คของผม  ให้กับเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่สามารถปฏิเสธผมได้ ว่าผมเป็นผู้ที่มีความสามารถในการหาเงินได้ใน จำนวนเงินที่มากกว่าที่ธนาคารคำนวณตามเอกสารที่มี ผมสามารถทำเอกสารตามที่ธนาคารต้องการได้เช่น ใบรับรองรายได้ ผมสามารถติดต่อหน่วยงานให้รับรองรายได้เท่าไหร่ก็ได้ และสามารถนำเงินเข้าบัญชีธนาคารตามจำนวนเท่ากับใบรับรองเงินเดือน ได้  แต่ผมไม่ทำเพราะไม่ใช่เรื่องจริง ผมจึงเห็นว่าหลักเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติของลูกค้าธนาคารไม่ถูกต้อง กับหลักความเป็นจริง เป็นการตั้งข้อบังคับหลักเกณฑ์ที่ไม่สมเหตุผล

ธนาคารเอาเปรียบลูกค้า (ผู้บริโภค) อย่างเห็นได้ชัด ด้วยเหตุผลดังนี้

1.ผมมีหนี้อยู่กับธนาคาร 590,282 บาท มีบ้านและที่ดินจำนองค้ำประกันในวงเงิน 1,127,000 การที่ผมจะเพิ่มเงินกู้อีก 536,717 หลักประกันแค่นี้ยังไม่เพียงพอหรือ ทั้งๆที่บ้านและที่ดินมูลค่าจริงราคามากกว่า 3,500,000 บาท

2.ที่ดินและบ้านที่จำนองเป็นที่พักอาศัยของผมและครอบครัว ผมและครอบครัวจะไม่ยอมปล่อยให้บ้านและที่ดินถูกยึดเพราะไม่ชำระเงินกู้ในจำนวนที่ต่ำกว่ามูลค่าจริง 3-4 เท่าเป็นอันขาด

3.ผมยังมีงานทำและมีความสามารถในการหาเงิน มีร่างการแข็งแรง สุขภาพดี สามารถหาเงินมาผ่อนหนี้ได้ตามจำนวนเงินและระยะเวลาที่ธนาคารกำหนดได้อย่างสบาย ภาระของผมในปัจจุบันไม่มีอะไรมาก ลูกๆจบหมดแล้วมีงานทำ และไม่มีภาระหนี้สินใดๆนอกจากเงินกู้จากธนาคารอาคารสงเคราะห์ ลูกๆจบแล้ว มีงานทำทุกคน สามารถผ่อนค่างวดแทนได้ถ้าผมติดขัด

4.สาเหตุที่ต้องการกู้เงินเพิ่มจำนวน 5 แสนบาท เนื่องจากการประเมินรายได้หลังจากลาออกจากงานประจำที่มีรายได้ประจำผิดพลาด เนื่องจากหลายปัจจัย จึงทำให้รายได้น้อยกว่ารายจ่าย จึงใช้เงิน OD สลับกับเงินกู้ส่วนบุคคลระยะสั้นที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพง 16-28% และต้องชำระขั้นต่ำ 10% ของเงินที่นำมาใช้ในแต่ละเดือน ทำให้มีภาระในการใช้เงินหมุนเวียนจำนวนมากถึงห้าหมื่นบาทต่อเดือน เสียดอกเบี้ยเดือนละ  ร่วมหมื่นบาท จึงต้องการที่จะลดค่าใช้จ่ายประจำ โดยการกู้เงินจากธนาคารอาคารสงเคราะห์จำนวนเงิน 5 แสนบาท มาปิดเงินกู้ระยะสั้นและเงิน OD ซึ่งจะทำให้ ผมลดค่าใช้จ่ายประจำในแต่ละเดือนลงไป เดือนละ 5 หมื่น บาท ถึงแม้นจะต้องมาผ่อนธนาคารอาคารสงเคราะห์เพิ่มอีก หนึ่งหมื่นบาท ก็เท่ากับผมลดค่าใช้จ่ายประจำไปเดือนละ 4 หมื่นบาท จากประวัติที่ผ่านมาผมสามารถบริหารเงินของผมได้โดยไม่ผิดเงื่อนไขใดๆกับใคร แต่ทำให้ผมมีหนี้เพิ่มขึ้นเพราะเสียดอกเบี้ยเดือนละ 10,000 บาท ดังนั้นการกู้เงินเพิ่มของผมครั้งนี้ไม่ได้เป็นการนำเงินไปใช้จ่ายเพื่อเพิ่มหนี้ แต่เป็นการไปลดหนี้ให้ต่ำลง และลดภาระในการผ่อนชำระให้น้อยลง ลดจำนวนเงินที่ต้องชำระเดือนละ 4 หมื่นบาท และลดดอกเบี้ยเป็นจำนวนประมาณ 16-20 % ต่อปี

5.ถ้าการดำเนินการกู้ในข้อ 4 ผมเรียบร้อย ก็เท่ากับเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนๆละไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นบาท(ธนาคารอาจนำไปคิดว่า เท่ากับผมมีรายได้เพิ่ม 4 หมื่นบาทก็ได้ ) จะทำให้ผม มีสมาธิในการทำงานและมีโอกาสสร้างรายได้ที่มากขึ้น เนื่องจากลดความกดดัน  ประกอบกับ  ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาผมได้สร้างประสบการณ์และการเรียนรู้ในการดำรงชีวิต จากมนุษย์เงินเดือน มาเป็นนักธุรกิจ เพิ่มความรู้และเครือข่าย  เปลี่ยนวิธีการหารายได้  โดยการใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และภาพพจน์ ของตัวเองเป็นสินค้า ในการให้บริการด้านความรู้ ในการเป็นวิทยากร โค้ช และที่ปรึกษา ให้กับผู้ที่ต้องการบริการทั้งบุคคล และ หน่วยงานต่างๆ  ดังนั้นผมยังเป็นคนมีอนาคต มีความรู้ความสามารถ ในการหารายได้ที่มากขึ้น แถมทำงานให้กับประเทศชาติรับใช้สังคมโดยไม่เห็นแก่รายได้และผลประโยชน์ของตัวเอง

6.กรณีที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในทางลบ เช่นผมเกิดตายก่อนผ่อนหนี้หมด ธนาคารก็ไม่สูญเงินที่ให้ผมกู้เพราะทายาทที่รับมรดกของผมก็จะต้องใช้หนี้แทนผมเพื่อไปไถ่ถอนบ้านและที่ดินคืนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป คงไม่ปล่อยให้ธนาคารยึดเพื่อนำไปขายทอดตลาดแน่นอน

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานอกจาก ธนาคารจะเอาเปรียบและไม่เป็นธรรมกับลูกค้าชั้นดี (ผู้บริโภค) แล้ว ธนาคารยังมีนโยบายสวนทางกับนโยบายของรัฐ ที่ต้องการช่วยเหลือประชาชนที่มีหนี้นอกระบบเนื่องจากมีรายได้ไม่พอเพียงกับรายจ่าย และไม่สามารถกู้เงินในระบบได้  โดยมอบหมายให้ธนาคารรัฐเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ  สิ่งที่ธนาคารปฏิบัติกับผม ไม่เพียงแต่ขัดนโยบายของรัฐ แต่ยังส่งเสริมให้ผมต้องวิ่งเข้าไปหาเงินกู้นอกระบบ หรือไปหาแหล่งเงินกู้ที่ดอกเบี้ยสูง ธนาคารอาจจะอ้างว่าเป็นระเบียบของธนาคารชาติหรือเป็นนโยบายของใครก็ตาม ผมถือว่าเป็นนโยบายเต่าล้านปี ท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายเหล่านี้ล้วนเป็นผู้ที่ ทำร้ายประชาชนผู้ด้อยโอกาส แต่ถ้าท่านอ่านบทความนี้และยอมรับสิ่งผิดพลาดที่ท่านได้ก่อไว้ และนำมาแก้ไขให้ถูกต้อง ผมก็ขอแสดงความยินดี และขออนุโมทนาด้วย และขอให้ท่านเจริญรุ่งเรื่องยิ่งๆขึ้นไป

ท่านใดเห็นด้วยและประสบปัญหาเช่นเดียวกับผม หรือคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ขอได้โปรดแสดงความคิดเห็นและร่วมกันรณรงค์เพื่อสร้างความยุติธรรมให้กับสังคมไทยต่อไป และถ้าท่านผู้ที่เกี่ยวข้อง มีเหตุผลที่ดีและรับฟังได้ผมก็ยินดีรับฟังและนำมาพิจารณาครับ ถ้าผมผิดผมยินดีรับผิดและยินดีขอโทษและประกาศให้ทุกท่านรับทราบถึงความผิดพลาดของผม และยินดีแก้ไขสิ่งที่ทำไปตามความเหมาะสมต่อไป

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

 

ตุลาคม 2556

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 03 ตุลาคม 2013 เวลา 09:26 น.