บทความอาจารย์วิจารณ์ พานิช เรื่องกติกา

วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน 2012 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - การบริหารการจัดการ
พิมพ์

วันที่ ๑๖ ต.ค. ๕๕ มีการประชุมคณะกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ประจำเดือนตุลาคม  ผมอ่านแฟ้มซึ่งหนากว่า ๒ นิ้ว แล้วบอกตัวเองว่า นี่คือตัวอย่างของการกำกับดูแลที่ดี  ที่มีการปฏิบัติตามกติกาที่หน่วยงาน regulator (ในที่นี้คือ ธปท.) กำหนด  ที่เรียกว่ามี compliance

 

แปลกมาก ที่ในชีวิตของผม ต้องทำงานภายใต้กฎเกณฑ์กติกามากมาย  แต่ผมจะไม่บ่นแสดงความไม่พอใจกติกาเหล่านั้น  แต่ผมจะตีความกติกา ว่าจะมีวิธีปฏิบัติตามให้ได้ compliance ด้วย และก่อความเจริญให้แก่องค์กรหรือหน่วยงานที่ผมสังกัดด้วย อย่างไร  หากไม่แน่ใจ ผมก็จะหารือหน่วยกำกับดูแลเหล่านั้น  และชี้ให้เห็นว่า หากยืดหยุ่นให้ผมปฏิบัติตามที่ผมเสนอ  จะได้ประโยชน์หลายต่ออย่างไร (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประโยชน์ต่อส่วนรวม)  โดยที่ไม่ได้ขอลดหย่อนกติกา แต่ต้องการการตีความกติกาที่บางครั้งผู้ร่างไม่ได้คำนึงถึงบริบทที่แตกต่างหลากหลาย จึงเขียนไว้แคบหรือรัดรึงเกินไป

 

ผมเดาว่าพฤติกรรมเช่นนี้ของผม ที่ถือปฏิบัติมาตั้งแต่อายุน้อยๆ คงจะส่งผลดีต่อชีวิตของผมในขณะนี้ อย่างที่ผมไม่เคยคิดฝันว่าชีวิตจะได้ดีถึงขนาดนี้  ขออนุญาตเอามาเล่าไว้ ว่าพลังแห่งความสร้างสรรค์ มีคุณต่อชีวิตของคนเราจริงๆ

 

กลับมาที่การประชุมคณะกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์  ในวันนี้มีการทบทวนนโยบายสำคัญๆ มากมาย  เช่น การทบทวนนโยบายการบริหารความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ยใน บัญชีเพื่อการธนาคาร ประจำปี ๒๕๕๕, การทบทวนนโยบายการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ประจำปี ๒๕๕๕, การทบทวนนโยบายการทดสอบภาวะวิกฤต ประจำปี ๒๕๕๕, การทบทวนนโยบายกระบวนการประเมินความเพียงพอของเงินกองทุน ประจำปี ๒๕๕๕, การทบทวนนโยบายบริหารความเสี่ยงด้านตลาดและนโยบายบริหารฐานะในบัญชีเพื่อการค้า ประจำปี ๒๕๕๕, การทบทวนนโยบายป้องกันการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย, การทบทวนระเบียบผลิตภัณฑ์สำหรับธุรกรรมอนุพันธ์ ประจำปี ๒๕๕๕

 

ผมตีความว่า นี่คือการทำหน้าที่ บอร์ด ที่เน้นกำกับดูแลอย่างระมัดระวัง และปฏิบัติตามกติกาของบ้านเมือง  โดยที่มีการดูแลอย่างพอเหมาะพอดี  คือ บอร์ด ไม่ได้ลงไปที่รายละเอียด  แต่ฝ่ายบริหารไปคิดรายละเอียดนำมาเสนอ  เพื่อให้ บอร์ด ได้พิจารณาในภาพใหญ่ ว่าธนาคารที่น่าเชื่อถือของสังคมจะต้องระมัดระวังอย่างไร

 

สิ่งที่ธนาคารไทยพาณิชย์ระวังอย่างยิ่ง คือกรรมการต้องไม่แสวงประโยชน์จากธุรกิจของธนาคาร  ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม  ซึ่งสำหรับผมสบายมาก เพราะผมแสวงประโยชน์ไม่เป็นไมว่าเรื่องใด

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๕ ต.ค. ๕๕


คำสำคัญ (keywords): 551112, scb, การกำกับดูแล, ชีวิตที่พอเพียง