สติกลิตซ์'ชี้ประชานิยมไทยทำต้นทุนสูง

วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - เศรษฐกิจ
พิมพ์

สติกลิตซ์'ชี้ประชานิยมไทยทำต้นทุนสูง

นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เตือนไทยอย่าเข้าร่วมเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิกกับสหรัฐ ชี้เอื้อประโยชน์บริษัทยักษ์ใหญ่ในมะกัน อาจทำให้ไทยต้องซื้อยาแพงขึ้น

คัดลอกจาก คมชัดลึกออนไลน์วันที่ 23-03-2556

ในงานปาฐกถาพิเศษและการประชุมวิชาการนานาชาติ การศึกษาและตลาดแรงงาน นโยบายและความท้าทาย จัดโดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และสมาคมเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม นายโจเซฟ อี สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล อดีตที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีบิล คลินตัน ปาฐกถาเรื่องเศรษฐกิจโลกว่า ท่ามกลางข่าวร้ายเรื่องเศรษฐกิจทั่วทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา ยังมีแหล่งเศรษฐกิจที่มีข่าวดีอยู่คือภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะประเทศจีน โดยประเทศในกลุ่มเอเชียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างดีตั้งแต่ช่วงปี 2551 ซึ่งสวนทางกับเศรษฐกิจต่างประเทศทั่วโลก โดยมีปัจจัยผลักดันเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก ได้แก่ การบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกันทั้งภูมิภาค

การเติบโตของประเทศจีนเริ่มมีสัญญาณน่าเป็นห่วง หลังจากเศรษฐกิจมีการเติบโตมาก โดยเฉพาะเริ่มมีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน และการบริโภคมากเกินไปเกิดขึ้น ขณะที่จีนเริ่มมีท่าทีจะเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจมาเป็นแบบเติบโตปานกลาง แทนการโตอย่างร้อนแรงเหมือนที่ผ่านมา

"ปัจจุบันจีนกำลังเป็นที่จับตาว่า เริ่มแยกเศรษฐกิจออกจากสหรัฐอเมริกา และลดภาวะการพึ่งพิงจากประเทศสหรัฐอเมริกาชัดเจน และถูกมองว่าในอีก 5-15 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจจีนจะเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก" นายสติกลิตซ์กล่าว

นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ย้ำว่า จีนต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ลดพึ่งพาการส่งออกมากเกินไป และจีนไม่ควรสร้างระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยการบริโภคนิยมแบบสหรัฐอเมริกา เพราะอาจพบกับจุดจบที่น่าผิดหวัง ดังเช่นสหรัฐอเมริกาที่การบริโภควัตถุมากๆ พิสูจน์แล้วว่าทำให้ประเทศไปไม่รอด จีนเป็นประเทศขนาดใหญ่ การบริโภคสูงอาจทำให้เกิดปัญหาด้านแหล่งอาหาร และทรัพยากร ปัญหาความเท่าเทียมในสังคม และนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจในที่สุด มองว่าจีนควรเปลี่ยนนโยบายการเติบโตมาเป็นแบบยั่งยืน และไม่ใช้ตัวเลขจีดีพีวัดคุณภาพเศรษฐกิจ และต้องให้ความห่วงใยดูแลทรัพยากรเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ร่วมกัน และมีสภาพแวดล้อมที่ดีรองรับ ปรับปรุงคุณภาพชีวิตทุกคนให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกถือว่ามีภาวะเศรษฐกิจที่ดี สามารถพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศได้ เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตอย่างยั่งยืน แม้จะยังมีการส่งออกไปยังต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ก็ตาม แต่ก็ไม่สำคัญกว่าการบริโภคภายใน ส่วนสหรัฐอเมริกา เชื่อว่าจะไม่เกิดภาวะล้มละลาย เพราะสามารถพิมพ์เงินดอลลาร์ได้ นอกจากนี้ประเทศอื่นๆ ยังยินดีให้สหรัฐกู้ทั้งที่ได้รับผลตอบแทนติดลบ

"อยากแนะนำว่า ให้ทุกประเทศรู้จักการลงทุนให้เป็น เมื่อลงทุนแล้วคนส่วนใหญ่ได้รับผลประโยชน์ ขณะที่รัฐบาลต้องเป็นรัฐบาลที่ดี ไม่คอร์รัปชั่น เพราะเป็นบ่อเกิดของปัญหาเศรษฐกิจและสังคม แต่ผมไม่เห็นด้วยกับนโยบายการรัดเข็มขัด เพราะเปรียบเสมือนยาพิษ ทำลายเศรษฐกิจในวันนี้และอนาคต ไม่ส่งเสริมการออม เพราะคนไม่มีงานทำ จึงออมไม่ได้ นโยบายใช้จ่ายเพื่อลงทุนให้ประเทศดีขึ้นในอนาคตเป็นคำตอบสำหรับทุกประเทศ แตกต่างจากนโยบายประชานิยม ซึ่งสัญญาในสิ่งที่ทำให้ไม่ได้ หรือทำให้ได้ในปัจจุบัน แต่เป็นต้นทุนในอนาคตข้างหน้า" นายสติกลิตซ์กล่าว

สาเหตุที่สหรัฐอเมริกาจะยังคงอยู่ในสภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจฝืดเคืองต่อ นายสติกลิตซ์มองว่า เป็นเพราะการดำเนินนโยบายผิด โดยเฉพาะนโยบายรัดเข็มขัดที่ถูกนำไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีหลักฐานยืนยันในอดีตตลอดมาว่า เป็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด รวมทั้งหลักฐานจากการที่ไอเอ็มเอฟนำนโยบายรัดเข็มขัดมาใช้ในประเทศไทย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ แม้จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ แต่ทำให้อยู่ในสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นกัน

อีกความผิดพลาดที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาประสบปัญหา คือ การคอร์รัปชั่นทางการเมือง เกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่บิดเบือนผลประโยชน์ส่วนรวมมาเป็นของตน ซึ่งการเลือกตั้งแต่ละครั้ง เกิดการคอร์รัปชั่นมาก เพราะแต่ละพรรคใช้เงินหาเสียงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ เม็ดเงินเหล่านั้นล้วนมาจากชนชั้นที่มีเงินทั้งสิ้น และการบริจาคทางการเมืองก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อการกุศล แต่ล้วนเป็นการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น

"การคอร์รัปชั่นแบบอเมริกันสไตล์ดังกล่าว กำลังเป็นรูปแบบหนึ่งของการคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นทั่วโลก และสร้างปัญหาไปทั่วทุกประเทศที่ใช้ระบบประชาธิปไตย และเชื่อมั่นว่าความตระหนักรู้ในความเสียหายที่เกิดจากการคอร์รัปชั่นจะทำให้เกิดการปฏิรูปทางโครงสร้าง" นายสติกลิตซ์กล่าว

ทั้งนี้ ในระหว่างการสัมภาษณ์พิเศษโดย นายสุทธิชัย หยุ่น ประธานบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป นายสติกลิตซ์ เตือนว่า ประเทศไทยไม่ควรเข้าทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีในกรอบเอเชีย-แปซิฟิก กับสหรัฐอเมริกา เนื่องจากจะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ เพราะการเจรจาต่อรองทำเป็นความลับ ทำให้ภาคประชาสังคมไม่มีโอกาสรับรู้กับการต่อรองแลกผลประโยชน์กัน และบริษัทใหญ่ๆ ในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะบริษัทผู้ผลิตยาจะมีอิทธิพลอย่างมากในการต่อรองของสหรัฐ ทำให้ประเทศไทยอาจต้องซื้อยาในราคาที่แพงขึ้น

เมื่อถามว่า หากประธานาธิบดีบารัก โอบามา ยื่นคำขาดให้ไทยเข้าร่วมวงการค้าเสรีนี้ ประเทศไทยจะทำให้อย่างไร นายสติกลิตซ์เขาตอบว่า "ควรจะให้ประชาชนออกมาประท้วง"

 

ขอบพระคุณ อาจารย์วิจารณ์ พานิช ที่แนะนำบทความนี้ในเวปเพส ของท่าน ใน gotoknow ทำให้ผมได้เข้าไปอ่านและถือโอกาสนำมาเผยแพร่ต่