เรื่องเศร้าของสังคม

วันศุกร์ที่ 20 กันยายน 2019 เวลา 18:30 น. พศิน อินทรวงค์ บทความ - สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
พิมพ์


วีนนี้ได้รับบทความของคุณพศิน อินทรวงค์ จากสมาชิกที่ร่วมศึกษาในสถานธรรมแห่งหนึ่ง ส่งมาให้ อ่านดูแล้ว น่าสนใจมาก จึงขอนำมาเผยแพร่ในวันนี้

บทความนี้สะท้อนสังคมยุคปัจจุบันได้ตรงมากๆ 
((ลองอ่านกันดูครับ))

:: เรื่องเศร้าของสังคม ::

คนเรานั้น ถ้าจิตใจไม่เป็นขี้ข้าของวัตถุจนเกินไป ชีวิตก็จะมีความสุขขึ้นอีกมาก
แต่ก็ต้องยอมรับไปตามตรงว่า การไม่เป็นขี้ข้าวัตถุในยุคสมัยนี้ ก็เป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ในประเทศสหรัฐอเมริกานั่น ประชากรเกือบทั้งหมด ต้องทำงานต่อไปหลังจากอายุ 60 ปี เพื่อหาเงินมาจับจ่าย ตรงนี้คิดว่าประเทศไทยก็ไม่ต่างกัน
คนมากมาย ทำงานหาเงินตั้งแต่เป็นหนุ่มเป็นสาวยันแก่ชรา
ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าเราจะพูดคำว่า "ต้องทำงานหาเงินไปจนตาย"
คำพูดทำนองนี้ มันไม่ใช่เรื่องเกินจริงอีกต่อไปแล้ว

ทุกวันนี้เราจะหยุดทำงานก็ต่อเมื่อแพทย์ตรวจพบว่า.. เราเป็นมะเร็ง หรือไม่ก็ทำไปจนกว่าจะพิการ ทำไปจนกว่าจะเดินไม่ไหว กระดูกไขข้อเสื่อม
เราไม่ได้อยากหยุดทำงาน เราไม่ได้ตั้งใจหยุดหาเงิน แต่ธรรมชาติบังคับเราให้หยุดต่างหาก

ในขณะที่สังคมของเราชอบตั้งคำถามที่ดูโก้หรูเกี่ยวกับคุณค่าชีวิต
ที่จริงคุณค่าของชีวิตจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ เรามองเห็นสิ่งอื่นๆ ที่มีค่ามากไปกว่าเงินทอง และอุทิศเวลาให้สิ่งนั้นตามสมควร

เราพบว่า.. คนในยุคปัจจุบันมีการศึกษาที่สูงขึ้น ทว่าการศึกษานั้นไม่ได้ช่วยให้เกิดความเฉลียวฉลาด ในการดำรงชีวิตแต่อย่างใด ยิ่งมีการศึกษาสูง ก็ยิ่งมีความต้องการมากขึ้นเป็นลำดับ

ใครที่สนใจเรื่องหาเงิน จะถูกยกย่องว่าเป็นผู้รักความก้าวหน้า
ส่วนใครที่สนใจในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเงิน มักถูกตั้งคำถามจากสังคมว่า เป็นคนแปลก                        

 

แยกนิยามความหมายของคำว่า "ความสามารถ" จึงถูกจำกัด และชี้เป้าไปที่ตัวเงินมากขึ้นทุกที บริบทของสังคมได้สร้างกรอบความคิดผิดๆ

ในตำราสอนว่า คนดีคือคนน่ายกย่อง
แต่ในชีวิตจริง เรากลับเกรงใจคนรวยๆ มากกว่าคนดีๆ ด้วยเหตุผลอันใดไม่ทราบได้

ยุคสมัยนี้ จึงเป็นยุคที่เราใช้การศึกษา เพื่อพอกพูนอัตตา
มากกว่าที่จะใช้การศึกษา เพื่อทำความรู้จักตนเอง
และนำมาซึ่งการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ รู้จักแบ่งปัน เสียสละ และทำเพื่อผู้อื่นอย่างแท้จริง

สถาบันการศึกษาต่างๆ ทุกวันนี้ เร่งผลิตมนุษย์วัตถุนิยมออกเพื่อแข่งกัน สู้กัน และฆ่ากัน รถยนต์ โทรศัพท์ กระเป๋า นาฬิกา เครื่องสำอางราคาแพง และคอร์สดูแลรักษาผิวพรรณ กลายเป็นของจำเป็นยิ่งกว่าข้าวปลาอาหาร ปลาทูตัวละสิบบาท แต่ครีมทาหน้ากระปุกละห้าพัน

เราบ่นกันเหมือนโลกจะแตก เมื่อไข่ไก่ขึ้นราคาหนึ่งบาท
แต่เราสามารถควักเงินเป็นหมื่นๆเพื่อฉีดโบท็อกโดยไม่คิดอะไร

กล่าวได้ว่า ทุกวันนี้สิ่งไร้สาระได้เปลี่ยนตัวเอง ให้กลายเป็นสิ่งมีสาระไปแล้วในสามัญสำนึกของคนทั้งหลาย

คนที่พอจะรู้ตัวอยู่บ้าง ก็เริ่มอ่อนแรง ต้านกระแสสังคมไม่ไหว จำเป็นต้องไหลตามกระแสอันผิดพลาด ถูกดูดกลืนจิตวิญญาณไปในที่สุด เพราะไม่อยากเป็นคนผิดแปลกจากคนอื่นๆ

เส้นทางที่ถูกต้องดีงาม จึงกลายเป็นเส้นที่อันโดดเดียวที่ต้องเดินไปด้วยความเงียบเหงา ทุกคนเป็นทั้งเหยื่อ และผู้ประโคมความเชื่อแบบผิดๆ

ในเวลาเดียวกัน อุดมคติของชีวิตดีงาม กลายเป็นเพียงสิ่งที่เราใช้พูดกับเมื่อถูกไมโครโฟนจ่อปาก เป็นคำพูดที่ใช้เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ มากกว่าจะใช้ดำเนินชีวิตจริง

ทุกวันนี้เราเริ่มเห็นอาชีพแปลกๆ ที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นในชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ
เราเริ่มเห็นอาชีพนักธุรกิจ .. ในคราบคุณครู
เห็นพ่อค้าในคราบ .. คุณหมอ
เห็นโจรในคราบ .. นักการเมือง
เห็นหมอผีในคราบ .. นักบวช
เห็นนักเลงในคราบ .. นักเรียน
เห็นคนขี้โกหกในคราบนักการตลาด

คำว่า "สันติภาพ" ถูกใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการทำสงคราม
ส่วน "พระธรรม" ถูกใช้ในการถกเถียงเชิงปรัชญา มากกว่านำไปปฏิบัติ เพื่อขัดเกลาตนเอง

นานวันเข้าเราหลงคิดว่าสิ่งเหล่านี้ คือ "เรื่องธรรมดา" คือ "ความปกติ" คือ "เรื่องที่ถูกต้อง" เราเริ่มแยกความจริงกับความจำเป็นออกจากกัน ความจริงไว้ส่วนหนึ่ง และความจำเป็นไว้ส่วนหนึ่ง

เมื่อเราแยกความจริงออกจากชีวิตแล้ว ชีวิตของเราจึงไม่เหลือความจริงไว้เลย
เราพ่นคำโกหกหน้าตาเฉย.. แล้วบอกกับใครๆว่า มันคือ "ความจำเป็น"
เราทำผิดหน้าตาเฉย แล้วบอกใครๆว่า มันคือ "ความอยู่รอด"
มันเกิดอะไรขึ้นกับสังคมของเรา!!!

การกระทำของเรา ย่อมส่งผลโดยตรงต่อสังคมของเรา
อยากให้สังคมเปลี่ยน เราต้องเปลี่ยนตนเองก่อน

เริ่มต้นวันนี้ หยุด สำรวจ และตั้งคำถามกับตนเองดูสิว่า ...
..ชีวิตที่ถูกต้องดีงาม คือ อะไรกันแน่ ?
..เราเกิดมาเพื่อสิ่งใด และจะใช้ชีวิตที่เหลือเพื่อทำสิ่งใด ?

ชีวิตคือสิ่งมีค่า ถ้าเราใช้ให้มีค่า
คนเราเกิดมามีค่าเหมือนกัน แต่คุณค่าต่างกัน

จงตั้งสติ แล้วมองให้เห็นความจริง
อย่ากำหนดเป้าหมายด้วย "ความฉลาด"
แต่จงกำหนดมันด้วย "ปัญญา"

ปัญญา และ ความฉลาด นั้นต่างกัน
..ปัญญา ให้ความจริง
..ความฉลาด ให้สิ่งเสมือนจริง

บางทีอาจถึงเวลาแล้ว ที่เราทั้งหลายจะตื่นจากการหลับใหล
ใช้ชีวิตอย่างผู้มีปัญญา โดยละทิ้งความฉลาดไว้เบื้องหลัง!!!...

พศิน อินทรวงค์ -