สังคมไทย

วันพุธที่ 18 กันยายน 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
พิมพ์

วันนี้เข้าร่วมประชุมเชิงวิชาการนานาชาติ The 1st SRII Asia Summit 2013 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ช่วงเช้าเลือกเข้าห้อง Lotus 5-6 Seminar on Linked Open Data หัวข้อ "Introduction to Linked Data and its Life-Cycle by Soren Auer,University of Bonn and Fraunhofer IAIS,Germany  ใช้เวลา 1 ชั่วโมง พอเข้าใจแต่ไม่ทั้งหมด หัวข้อต่อไปได้แก่ "From Unstructured information to Linked Data" by Axel-C.Ngonga Ngomo,University of Leipzig ผู้บรรยายมีความตั้งใจมาก ทำให้ผู้ฟังตื่นตัวและให้ความสนใจ แต่เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดทำข้อมูลทาง IT ซึ่งผมไม่ใช่คนที่เรียนและทำงานด้านไอที จึงไม่เข้าใจ แต่ก็ทนนั่งฟังสักพักใหญ่ๆ เนื่องจากนั่งโต๊ะหน้าและกลัวว่าถ้าลุกออกไปจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดคิดว่าเขาพูดไม่ได้เรื่องผมจึงลุกออกไป แต่ในที่สุดก็ต้องลุกออกไปเนื่องจากไม่เข้าใจจริงๆ และห้องอื่นก็ยังมีเรื่องที่น่าสนใจ จึงไม่ควรเสียเวลาไปโดยไม่ได้อะไร จึงลุกไปเข้าร่วมในห้องใหญ่เป็น Keynote&Panel ในหัวข้อ " Services Innovation Method,Model,and Tool เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ที่เลือกเข้าฟังในห้องนี้ (จะนำสาระมาเผยแพร่ให้ฟังในบันทึกอื่น)

หลังทานอาหารกลางวันช่วงบ่ายได้เลือกเข้าห้องเดิมที่เข้าฟังในช่วงเช้า เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกับช่วงเช้า แต่ครั้งนี้เป็นการบรรยายภาษาไทย หัวข้อ "Linked Open Government Data" บรรยายโดย ศาสตราจารย์ ดร.วิลาศ วูวงศ์ ในการบรรยายหัวข้อนี้ ผู้บรรยายได้กล่าวถึงลักษณะของสังคมไทย ทำให้ผู้บรรยายนึกถึงเรื่อง DATA ผมเห็นว่าน่าสนใจและเห็นด้วยจึงขอนำมาเผยแพร่ดังนี้

"สังคมไทยเป็นระบบสังคมที่หลักการหลวม" "Loosely Principled Social System"

เมื่อพึ่งหลักการไม่ได้ก็ต้องพึ่งข้อมูลอย่างเดียว

ลักษณะของสังคมที่หลักการหลวม

๑.เป็นสังคมพรรคพวก เนื่องจากพึ่งหลักการไม่ได้ จึงต้องหาและสร้างพรรคสร้างพวกไว้เป็นที่พึ่ง

๒.เป็นสังคมอุปถัมภ์ ต้องพึ่ง "ผู้ใหญ่" หรือ"ผู้มีบารมี" เพราะพึ่งหลักการไม่ได้ เกิดเป็นการอุปถัมภ์กันขึ้นมา

๓.เป็นสังคมที่ยอมรับความไม่สอดคล้อง เพราะหลักการหลวม จึงยอมรับสิ่งที่ขัดแย้งกันได้โดยไม่รู้สึกอะไร

๔.เป็นสังคมสองหรือหลายมาตรฐาน เพราะยอมรับความไม่สอดคล้องได้โดยไม่รู้สึกอะไร

๕.ย้ายพวกหรือย้ายพรรคกันง่าย เพราะการรวมตัวเป็นพวกเป็นพรรคไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของหลักการ แต่อยู่ที่ผลประโยชน์มากกว่า

๖.ผลประโยชน์ของพวกมาก่อนผลประโยชน์ส่วนรวม (Local optimization over global optimization)

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

18 กันยายน 2556