๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗

วันอาทิตย์ที่ 02 มีนาคม 2014 เวลา 00:00 น. พิชาญ พงษ์พิทักษ์ บทความ - สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
พิมพ์
๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ รวมเวลาในการครองราชย์ได้ 9 ปี ขณะมีพระชนมายุได้ 41 พรรษา และเสด็จไปประทับที่กรุงลอนดอน พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์ขณะมีพระชนมายุ 9 พรรษา

หลังการปฏิวัติ 2475 คณะราษฎรสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นปกครองประเทศสยามแทนระบอบสมบูรณาญาสิทธิธิราชย์ ทำให้กษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่คณะราษฎรบริหารประเทศได้เพียงปีเศษก็เกิดกบฏบวรเดชซึ่งเป็นการโต้กลับของฝ่ายเจ้าและขุนนางระบอบเก่า หรือเป็นผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งของระบอบเก่ากับระบอบใหม่ ได้แก่ ความขัดแย้งเรื่องการตั้งสมาคมคณะชาติ ปัญหาเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจ การทำรัฐประหารของพระยามโนปรกรณ์นิติธาดาโดยการออกพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา จนถึงการรัฐประหารของพระยาพหลพลพยุหเสนาและคณะเมื่อ 20 มิถุนายน 2476 และประเด็นสำคัญที่สุดคือ ข้อโต้แย้งเรื่องพระเกียรติยศและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ หลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชสงบลงความสัมพันธ์ระหว่างคณะราษฎรกับรัชกาลที่ 7 ก็เสื่อมทรามลง เกิดข้อสงสัยในบทบาทของรัชกาลที่ 7 ต่อกบฏบวรเดช ระหว่างที่เกิดกบฏบวรเดช ทรงประทับอยู่ที่หัวหิน แต่เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้นก็เสด็จด้วยเรือเร็วไปประทับที่สงขลาซึ่งเป็นจังหวัดใกล้พรมแดนมลายู รัฐบาลพยายามกราบบังคมทูลเชิญเสด็จกลับพระนครก็ไม่สำเร็จ ทรงประทับที่สงขลานานถึงสองเดือนจนเสด็จกลับในเดือนธันวาคม รวมทั้งปรากฏหลักฐานทางทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ว่ารัชกาลที่ 7 พระราชทานเงินให้แก่พระองค์เจ้าบวรเดชสองแสนบาท2

หลังจากเสด็จกลับจากสงขลาเพียงเดือนเดียวรัชกาลที่ 7 ก็เสด็จไปรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษ และใช้เวลาขณะประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษต่อรองขอเพิ่มพระราชอำนาจ แต่เมื่อรัฐบาลไม่สามารถตอบสนองจนเป็นที่พอพระทัยได้พระองค์จึงมีพระราชประสงค์ที่จะสละราชสมบัติ รัฐบาลรู้สึกวิตกกังวลเป็นอย่างมากต่อการที่พระองค์อาจจะสละราชสมบัติจึงส่งคณะผู้แทนไปเจรจาแต่ไม่เป็นผล ทรงสละราชสมบัติเมื่อ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477

ต่อมาเมื่อรัฐบาลได้นำเสนอเรื่องการสละราชสมบัติให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาและสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเลือกพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่แล้ว รัฐบาลจึงได้ออกคำแถลงการณ์ให้ประชาชนทราบถึงที่มาที่ไปโดยสังเขป และสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้รัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติว่า3

“...ทรงขอร้องต่อรัฐบาลหลายประการ ในประการที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็ได้จัดสนองพระราชประสงค์เท่าที่จะจัดถวายได้ ในส่วนที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็เป็นอันนอกเหนืออำนาจที่รัฐบาลจะจัดถวายได้ตามพระราชประสงค์ ...รัฐบาล...ได้พยายามทุกทางจนสุดความสามารถที่จะทานทัดขัดพระราชประสงค์มิให้ทรงสละราชสมบัติ แต่ก็หาสมตามความมุ่งหมายไม่”
ต่อไปนี้คือการอภิปรายและการลงมติเลือกพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 33/2477(สามัญ) สมัยที่ 2 (ประชุมวิสามัญ) วันที่ 6-7 มีนาคม พ.ศ. 2477 รัฐบาลเสนอเป็นญัตติด่วนและขอให้สภาผู้แทนราษฎรประชุมลับ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละพระราชสมบัติ และการเลือกตั้งพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ รัฐบาลโดยพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ทำจดหมายแจ้งสภาผู้แทนราษฎรว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติเมื่อ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 โดยเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลได้โทรเลขแจ้งข้อความในพระราชหัตถเลขามาโดยละเอียด รัฐบาลจึงขอส่งคำแปลโทรเลข พร้อมสำเนาหนังสือและโทรเลขที่เกี่ยวข้องมาให้สภาผู้แทนพิจารณาเรื่องการสละราชสมบัติต่อไป4

เมื่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางและรับทราบเรื่องการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว5 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจึงพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้ที่จะสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ต่อไป แต่ก่อนหน้าที่จะเริ่มพิจารณาเรื่องกษัตริย์พระองค์ใหม่อย่างจริงจัง พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล เสนอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรโทรเลขไปแสดงความอาลัยของสมาชิกสภาต่อรัชกาลที่ 76 แต่พระพินิจธนากร ผู้แทนจังหวัดเชียงใหม่ ไม่เห็นด้วย โดยกล่าวว่า

...ในฐานที่ข้าพเจ้าเป็นสมาชิกและเป็นผู้แทนราษฎรผู้หนึ่งก็อยากจะได้กราบเรียนถึงความจริงใจ ก็เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติด้วยพอพระทัยเช่นนี้แล้ว เราจะไปวิงวอนและโทรเลขไปดังที่ท่านผู้แทนสกลนคร และผู้แทนจังหวัดสตูลนั้นทำไมกัน...

ท่านบอกให้โทรเลขเสียใจอะไรกัน

ข้าพเจ้าคัดค้านในเรื่องนี้... ข้าพเจ้าเห็นไม่เป็นการสมควรที่จะโทรเลขไปเสียใจอะไรให้เสียอัฐเปล่าๆ โทรเลขทุกคำที่มีไปเงินไปตกอยู่แก่ต่างประเทศ ...เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องพูดถึงในเรื่องนี้ เราพูดในฐานสมาชิก ข้าพเจ้าขอแสดงความรู้สึกอย่างจริงใจทีเดียว ในชีวิตของเราจะหาโอกาสเช่นนี้ยาก เพราะฉะนั้นเหตุใดที่จะแสดงความเสียใจ ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบเลย เหตุผลที่ข้าพเจ้าคัดค้านว่าไม่ควรจะแสดงความเสียใจนั้น ข้าพเจ้าจะได้กราบเรียนดังต่อไปนี้ เราไม่มีโอกาสจะได้พบโอกาสเช่นนี้เลย โดยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราได้มีเงินสำหรับส่วนพระองค์...
แต่ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวตัดบทว่า “ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่จำเป็นต้องอธิบายต่อไป” หลังจากนั้นผู้ทำการแทนประธานสภาฯก็ให้ลงมติ ในที่สุดที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ลงมติให้ประธานสภาฯ ส่งโทรเลขไปแสดงความอาลัยต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

หลังจากนั้นจึงเข้าสู่การเลือกพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ โดยพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง กล่าวแถลงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า8

ผู้ที่จะสืบราชสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาลตามที่สมเด็จกรมพระนริศฯ9 ได้ทรงสืบสวนแล้ว ได้แก่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลาฯ ซึ่งได้สิ้นพระชนม์แล้ว กับมีพระราชโอรส คือ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลนั้นเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ของพระมหาก

ตริย์ตามกฎมณเฑียรบาล...
คัดลอกจาก facebook พิชาญ พงษ์พิทักษ์
Photo
แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 02 มีนาคม 2014 เวลา 07:13 น.