AEC ทำให้การพัฒนาประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร?

วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน 1999 เวลา 07:00 น. ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ บทความ - สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
พิมพ์

AEC ทำให้การพัฒนาประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร?

เหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 เดือน อาเซียนจะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) อย่างเป็นทางการ การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ AEC เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของการพัฒนา ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ประเด็นที่น่าสนใจ คือ AEC จะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศของไทยในอนาคตอย่างไร?

 

เมื่อไม่นานนี้ ผมได้รับเชิญไปบรรยายเรื่อง “AEC และนัยต่อการพัฒนาประเทศไทย” ภายใต้หลักสูตร ความรอบรู้ AEC เพื่อผู้บริหาร ซึ่งจัดโดย มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ผมได้วิเคราะห์ว่า AEC จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาประเทศไทยในหลายด้าน โดยบทความนี้ ผมจะนำเสนอ 2 ประเด็น คือ การเปลี่ยนแปลงขอบเขตของการพัฒนา และการเปลี่ยนแปลงทิศทางการพึ่งพาต่างประเทศ

การเปลี่ยนแปลงขอบเขตของการพัฒนา

การเข้าสู่ AEC จะทำให้ภาคส่วนต่าง ๆ ต้องปรับมุมมองในการดำเนินงานให้มีขอบเขตกว้างมากขึ้น จากมุมมองภายในขอบเขตประเทศ สู่มุมมองระหว่างประเทศ อาท
ขอบเขตของกฎระเบียบ การออกกฎระเบียบต่าง ๆ ในประเทศ จะต้องให้ความสนใจข้อตกลงของ AEC และปรับปรุงกฎระเบียบให้มีความสอดคล้องกับข้อตกลง และกฎระเบียบในอาเซียน เช่น พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว อาจต้องได้รับการแก้ไขสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าวในนิติบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงการเปิดเสรีการค้า และการลงทุนของ AEC เป็นต้น

ขอบเขตการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนแปลงขอบเขตการดำเนินธุรกิจ จากการมุ่งเพียงตลาดภายในประเทศ เป็นการมองหาตลาดที่กว้างขึ้นในระดับภูมิภาค เพราะเมื่อเปิด AEC กลุ่มประเทศอาเซียนจะกลายเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว ธุรกิจไทยจะมีโอกาสขยายตลาดและเข้าไปลงทุนในอาเซียนมากขึ้น การผลิตสินค้าและบริการต้องคำนึงถึงความต้องการของประเทศในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น

ขอบเขตของการจ้างงาน ประชาชนในประเทศไทยจะมีโอกาสออกไปทำงานในประเทศอาเซียนมากขึ้น เนื่องจากอาเซียนได้ลงนามยอมรับร่วมกันในเรื่องคุณสมบัติมาตรฐานในแต่ละวิชาชีพ (Mutual Recognition Arrangement: MRA) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพบางสาขา ซึ่งหมายความว่า บุคลากรของไทยในสาขาที่เปิดให้เคลื่อนย้ายอย่างเสรี หากต้องการไปทำงานในอาเซียน เขาจะต้องพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ ของประเทศที่ต้องการเข้าไปทำงานด้วย

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะส่งผลทำให้มุมมองของการพัฒนาประเทศมีขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น เช่น ระบบการศึกษาไทย ต้องสามารถพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้เป็นพลเมืองอาเซียน มีคุณสมบัติที่พร้อมจะออกไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน ภาครัฐต้องส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ และพัฒนาผู้ประกอบการให้มีศักยภาพในการทำตลาด และลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงทิศทางของการพึ่งพาต่างประเทศ

AEC จะมีส่วนเปลี่ยนแปลงทิศทางของการพึ่งพาต่างประเทศของไทย จากการพึ่งพาตะวันตก สู่การพึ่งพาตะวันออกมากขึ้น (from West to East) และจากการพึ่งพาประเทศพัฒนาแล้ว สู่การพึ่งพาเศรษฐกิจเกิดใหม่มากขึ้น (from North to South)

การพึ่งพาทางการค้า

ปัจจุบัน อาเซียนและจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 และ 2 ของไทย ขณะที่การค้ากับสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น มีสัดส่วนลดลง ในอนาคตไทยจะพึ่งพาทางการค้ากับเอเชียมากขึ้น เพราะเอเชียได้รับการคาดหมายว่า จะเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย จะมีส่วนแบ่งในจีดีพีโลกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 22 ในปี 2015 เป็นร้อยละ 46 ในปี 2050 นอกจากนี้ เอเชียจะมีชนชั้นกลางเป็นจำนวนมาก โดยชนชั้นกลางทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 2-3 พันล้านคน ในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในเอเชีย

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของเอเชีย จะมีส่วนแบ่งมากกว่าร้อยละ 50 ของการค้าโลกในปี 2025 เนื่องจากข้อตกลงการเปิดเสรีภายในภูมิภาค จะทำให้การพึ่งพากันภายในภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง AEC จะขยายความร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาค เป็น ASEAN+3 และ ASEAN+6 มากกว่านั้น ประเทศต่างๆ ในเอเชีย ยังมีความตกลงทางการค้าในแบบทวิภาคีจำนวนมาก

การพึ่งพาทางการลงทุน

การเปิด AEC จะทำให้ไทยพึ่งพาการลงทุนจากเอเชียมากขึ้น เนื่องจากการลดข้อจำกัดด้านการเคลื่อนย้ายการลงทุน และเงินทุนระหว่างกันมากขึ้น AEC ยังทำให้นักลงทุนนอกภูมิภาคสนใจอาเซียนมากขึ้น เพราะอาเซียนจะกลายเป็นตลาดเดียวที่มีขนาดใหญ่ การเข้ามาลงทุนในอาเซียนจะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคที่มีจำนวนถึง 600 ล้านคน

ปัจจุบัน การลงทุนโดยตรงในประเทศกำลังพัฒนา 1 ใน 3 มาจากประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเอง ในอนาคต กระแสการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ จากประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น บริษัทในประเทศกำลังพัฒนาออกไปทำการค้าและร่วมลงทุนในเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่น ๆ มากขึ้น

หากพิจารณาในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ อาเซียนอยู่ในภูมิศาสตร์ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจของโลก ประเทศมหาอำนาจจึงพยายามขยายอิทธิพลมาในภูมิภาคนี้ สังเกตได้จากการที่รัฐบาลจีนให้เงินช่วยเหลือและเงินลงทุนแก่ประเทศในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของจีน หรือรัฐบาลอินเดียที่พยายามเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมกับอาเซียน ดังนั้น ประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางอาเซียน จะมีโอกาสรับนักลงทุนจากเศรษฐกิจเกิดใหม่มากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ประเทศไทยต้องเปลี่ยนทิศทางการพัฒนา เพื่อมุ่งสู่ตะวันออกมากขึ้น จากเดิมที่ให้ความสำคัญกับตะวันตก เช่น การส่งนักเรียนทุนรัฐบาลอาจต้องกระจายทุนไปสู่ประเทศตะวันออกมากขึ้น การเรียนภาษาต่างประเทศต้องให้ความสำคัญกับภาษาของประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เป็นต้น
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ประเทศไทยจะต้องเตรียมความพร้อมและพัฒนาประเทศ ด้วยมุมมองและในทิศทางที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อที่เราจะสามารถพัฒนาประเทศ ก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในอาเซียนได้ และมีศักยภาพและขีดความสามารถการแข่งขัน

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาประเทศไทยซึ่งเป็นผลจาก AEC ในประเด็นอื่นๆ จะนำเสนอในบทความครั้งต่อๆ ไป

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน http://www.kriengsak.com
แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม 2015 เวลา 12:43 น.