ปฏิรูปการเมืองเพื่อเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ.

วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน 1999 เวลา 07:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
พิมพ์

"การเปิดพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนได้รวมตัวกันในการพัฒนาท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆ คือการส่งเสริมวิถีชีวิต วัฒนธรรมประชาธิปไตย อีกทั้งมีข่าวดีว่า รัฐบาลเร่งผลักดันให้ทุกหมู่บ้านมี WIFI ภายใน 2-3 ปีนี้ เป็นการเปิดพื้นที่ให้มีการติดต่อสื่อสารกัน จะเป็นเครื่องมือเร่งสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย โดยเร็ว เกิดประชาธิปไตยการมีส่วนร่วม ประชาธิปไตยจากฐานล่าง ประชาธิปไตยท้องถิ่น"

   


ปฏิรูปการเมืองเพื่อเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ

อภิปรายต่อที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ 

เมื่อวันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม 2560

ประเด็น ข้อเสนอการปฏิรูปการเมืองเพื่อเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ

โดย นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ สมาชิกหมายเลข 40

 

“..หลายท่านในสภาแห่งนี้ ผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 คงมีส่วนร่วมในการเปิดพื้นที่ครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของประเทศนี้ หากมองจากวันนั้นหวังเห็นอนาคตมากมาย เราคงคาดไม่ถึงว่า 44 ปีที่ผ่านมา เรายังไปไม่ถึงไหนอย่างที่หวัง ดังนั้นนับจากนี้ไป 20 ปีข้างหน้าจึงต้องเร่งการปฏิรูปประเทศ ให้เกิดประชาธิปไตยอย่างที่เราคาดหวัง..”

 

“..มีการเริ่มปฏิรูปการเมือง ปีพศ.2537 เมื่อครั้งที่ท่านฉลาด วรฉัตร อดข้าวประท้วง ประธานสภาผู้แทนราษฏร ท่านอาจารย์มารุต บุนนาค ได้แต่งตั้ง คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย  มีท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี เป็นประธาน อาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโน เป็นเลขานุการ คณะกรรมการชุดนี้ทำงานศึกษาวิจัยอยู่ประมาณหนึ่งปี ได้องค์ความรู้ในการปฏิรูปการเมือง ซึ่งต่อมานำไปใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญ 40 เวลาล่วงมา 20 ปี พอจะสรุปได้ว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก..”

 

“..มีข้อสังเกตว่า เครื่องมือที่คัดกรองผู้สมัครรับเลือกตั้ง ไม่เกิดขึ้นจริง เคยเสนอให้บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ชุดท่านอาจารย์บวรศักดิ์เป็นประธานฯ แต่ร่างฉบับนั้นไม่ผ่านสปช. คือบัญญัติให้ผู้สมัครฯทั้งระดับชาติและท้องถิ่นนับแสนราย ยื่นเอกสารแสดงภาษีเงินได้ย้อนหลังสามปี พร้อมกับบัญชีทรัพย์สินฯ เพราะเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินอย่างเดียวไม่พอ เชื่อว่า ผู้สมัครฯจำนวนมาก คัดกรองตนเองไม่สมัคร เพราะหากได้รับเลือกตั้ง แล้วมาตรวจสอบพบทีหลังและไม่สามารถอธิบายได้ จะหมดอนาคตทางการเมืองทันที จนบัดนี้ เครื่องมือนี้ยังไม่เกิด จะถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายลูกหรือไม่ต้องติดตามต่อไป..”

“.. ข้อเสนอเพื่อปฏิรูปการเมืองในครั้งนี้ ขอเสนอเพียงประเด็นเดียว เป็นประเด็นที่สอดคล้องกับที่ท่านสปท.กษิต ภิรมย์ เสนอ คือการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย เพราะที่ผ่านมา เราให้ความสนใจน้อย วัฒนธรรมในที่นี้ คือ วิถีชีวิตของคนกลุ่มหนึ่ง ในสิ่งแวดล้อมหนึ่ง ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง รัฐจึงต้องส่งเสริมวัฒนธรรมประชาธิปไตย ดังที่ได้มีงานวิจัยของศาสตราจารย์พุตนัม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ใช้เวลาศึกษา 20 ปี  พบว่า หลังอิตาลีกระจายอำนาจไปสู่รัฐบาลท้องถิ่น ปรากฏว่าว่าอิตาลีตอนเหนือ เศรษฐกิจดี สังคมดี สิ่งแวดล้อมดี อาชญากรรมน้อย ต่างกับอิตาลีตอนล่างเป็นทางตรงข้าม พุตนัมได้ข้อสรุปว่า เพราะทุนทางสังคมหรือ social capital ทางตอนเหนือ มีการรวมตัวของผู้คนอย่างเข้มแข็ง เป็นกลุ่ม ชมรม สโมสร มูลนิธิฯต่างๆมากมาย ทำงานร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่น อย่างมีความสัมพันธ์เชิงแนวราบ ต่างจากทางตอนใต้ที่มีความสัมพันธ์เชิงแนวดิ่ง สังคมไม่เข้มแข็ง 

ดังนั้น การเปิดพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนได้รวมตัวกันในการพัฒนาท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆ คือการส่งเสริมวิถีชีวิต วัฒนธรรมประชาธิปไตย อีกทั้งมีข่าวดีว่า รัฐบาลเร่งผลักดันให้ทุกหมู่บ้านมี WIFI ภายใน 2-3 ปีนี้ เป็นการเปิดพื้นที่ให้มีการติดต่อสื่อสารกัน จะเป็นเครื่องมือเร่งสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย โดยเร็ว เกิดประชาธิปไตยการมีส่วนร่วม ประชาธิปไตยจากฐานล่าง ประชาธิปไตยท้องถิ่น..”

 

“..ตราบใดที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนรวมกลุ่มกันและสื่อสารถึงกันได้ ช่วยเหลือตนเอง ช่วยเหลือกันเอง ช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ ประชาธิปไตยฐานล่างจะมั่นคง เข้มแข็ง หาใช่ประชาธิปไตยโครงสร้างบนที่ได้พยายามทำมาตลอด เพราะไปมุ่งเน้นพรรคการเมือง สาขาพรรคการเมือง ที่ผ่านมาเกิดสาขาพรรคการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่ หรือเป็นสาขาเฉพาะกิจในยามเลือกตั้ง..”

 

https://youtu.be/g3-bxw1r6Tw

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=770561039789941&id=344628519049864

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน บันทึกการเมืองไทย

คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/631098

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 16 กรกฏาคม 2017 เวลา 14:07 น.