คู่กรรม : สดใสน้ำ ตาคลอ

วันจันทร์ที่ 08 เมษายน 2013 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
พิมพ์

แนะนำภาพยนต์ โดย วาทิน ศาสนต์ สันติ

"คู่กรรม"

 

"สงครามทำให้เขาได้พบกัน และสงครามก็ได้พรากเขาไปจากกัน"

เรื่องย่อคงไม่จำเป็นต้องเล่า เพราะเชื่อว่าแฟน ทมยันตี หรือคนที่ดูคู่กรรมมาแล้วหลายต่อหลายฉบับต้องรู้ตอนจบของเรื่อง ที่เศร้าไม่สมหวังตามแบบฉบับนามปากกา ทมยันตี ดังนั้น คู่กรรม ฉบับ พ.ศ. 2556 จึงต้องทะลายกำแพงภาพจำของเดิม ๆ เช่น วรุฒ, เบิร์ด ออกไปให้ได้ ซึ่งฉบับ 2556 นี้ถือว่าตีโจทย์และทำลายกำแพงภาพจำจนแตก นับตั้งแต่การดำเนินเรื่องแบบกระชับเพราะอาศัยภาพจำเดิม ๆ ที่คนไทยรู้เรื่องแล้ว จึงตัดฉากเล่าลัดอย่างรวดเร็ว แล้วไปเน้นตรงที่ผู้กำกับอยากจะสื่อ

เปิดเรื่องมาผมชอบมาก เป็นการเล่าถึงสาเหตุการมาของนายทหารช่างญี่ปุ่นโกโบริ แล้วเปิดเรื่องเป็นภาพการ์ตูน โกโบริถูกเปลี่ยนบุคลิกให้ดูสดใสอ่อนโยน แต่พอทำหน้าที่ทหารก็เข้มแข็ง ส่วนอังศุมาริน ค่อนข้างเหมือนแบบฉบับหนังสือมาก โดยเฉพาะการเก็บงำความรักของเธอที่มีต่อโกโบริ ที่เธอแกล้งทำเป็นไม่รัก ทั้งที่ใจรักมาก และที่ชอบคือ เธอแทบไม่เคยพูดดีกับโกโบริเลย นับว่าเป็นการเคารพวรรณกรรมของผู้กำกับ ตอนจบผูกเรื่องใหม่นิดหน่อย แต่ถือว่าไม่ขัดตาไม่ขัดใจ และตอบโจทย์ของเรื่องได้อย่างดี

 

ที่ต้องชมอีกก็คือเพลงประกอบเพราะ เปิดได้ถูกจังหวะถูกเวลา เรียกอารมณ์ของผู้ชมได้ดีแบบสุด ๆ ไปเลย

แม้จะดำเนินเรื่องไม่สนุก (เพราะอ่านนวนิยายมา 3 รอบแล้ว และดูมาหลายฉบับแล้ว) แต่คู่กรรมฉบับของ "เรียว-กิตติกร เลียวศิริกุล" ที่นำแสดงโดย "ณเดชน์ คูกิมิยะ" เป็น โกโบริ กับ "อรเณศ ดีคาบาเลส" เป็น อังศุมาลิน ก็ดำเนินเรื่องที่มีบรรยากาศดูสดใส อีกทั่งหลายจังหวะทำให้ผมน้ำตาซึมด้วยความอิ่มเอม

ผู้กำกับทำการบ้านมาดี โดยเฉพาะการศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และบรรยากาศของบ้านเมือง การแต่งกายสมัยสงครามแบบ รัฐนิยมจอมพล ป. โดยเฉพาะฉากบ้านเมืองย่านสะพานพุธฯ และการทิ้งระเบิดบนสะพาน

ในด้านนักแสดง อรเณศ เล่นได้ดี ที่ชอบคือการเก็บซ้อมอารมณ์ไว้ในสีหน้า แม้ออกจะดูกระด้างไปบ้างก็เถอะ ส่วน ณเดชน์ เล่นได้ดีเกินคาด

แม้จะรู้เรื่องราวมาหมดแล้วก็ตาม คู่กรรมฉบับนี้ก็ยังสามารถเรียกน้ำตาในตอนจบใด้อย่างดี นับว่าเป็นหนังที่ทำให้ผมเสียน้ำตาและเซ็ดน้ำตาอย่างไม่อาย ซึ่งห่างหายจากผมไปหลายปี

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/532406