ต้องเคารพภูมิสังคม พัฒนาพื้นที่ในทุกมิติ

วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน 1999 เวลา 07:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
พิมพ์

บทสัมภาษณ์ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีเมตตา  พื้นฐานของผมไม่ได้เรียนเกษตร แต่พระองค์ทรงมีความรอบรู้เชี่ยวชาญทางการเกษตร เพราะเป็นกิจกรรมที่พระองค์ทรงงานอยู่ ทรงสอนทุกอย่าง ให้เรารู้จักดิน น้ำ ลม ไฟ  รู้จักธรรมชาติ รู้จักคน ซึ่งพระองค์ทรงสรุปให้ฟังในวันหนึ่งว่า ต้องเคารพภูมิสังคม ภูมิ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ส่วนสังคม คือ คน ซึ่งเป็นคนในมิติที่มีขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ และค่านิยมของเขาด้วย พระองค์ทรงสอนให้เรารอบรู้หมดทุกอย่างในการทำงาน เช่น เวลาทำโครงการเราคิดแต่จะวางโครงการบนแผ่นกระดาษเท่านั้น แต่เมื่อได้ถวายงานจึงได้รู้ว่า กิจกรรมหรือโครงการนี้จะต้องมีครบทุกมิติ แต่ก่อนเราดูแต่มิติกายภาพ ดูเป็นถนน เป็นสะพาน เป็นตึกอาคาร เราดูเพียงแค่นั้น แต่พระองค์ทรงสอนให้เห็นถึงมิติของคน หรือความจริงที่ว่า "คน" คือผู้ใช้ถนนเป็นสิ่งมีชีวิต คนใช้เขาพร้อมจะใช้หรือเปล่า การไปลาดยางถนนในขณะที่เขาใช้เกวียนเป็นพาหนะอยู่ ถ้าลาดยางแล้วเขาจะใช้หรือเปล่า เหมาะสมหรือไม่ เพราะฉะนั้น ทรงสอนให้มองมิติต่างๆ อย่างครบถ้วน เวลาทำงานพัฒนาจึงต้องมองทุกมิติ ทุกอย่างต้องวางให้สอดคล้องกับภูมิประเทศและสังคมที่แตกต่างกันไป

นอกจากนี้ โครงการต่างๆ มีหลากหลายสาขา ต้องประสานงานกับหลายหน่วยงาน เริ่มต้นจากการสร้างแหล่งน้ำ จากแหล่งน้ำก็ต้องมีอาชีพ เรื่องเกษตร ปศุสัตวเข้ามา หน้าที่หลักๆของ สำนักเลขานุการ กปร อีกประการหนึ่งคือ เป็นตัวกลางคอยประสานเพื่อให้งานลุล่วงด้วยดี ซึ่งจะทำให้ดีได้ต้องเข้าใจพระราชดำริอย่างแท้จริง พระองค์ทรงมีพระราชกระแสหรือพระราชดำริอะไรต้องจดให้หมด ดังนั้น ในการตามเสด็จฯ กลับมาแต่ละครั้งจะต้องทำรายงานว่าวันนี้ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งอะไรบ้าง เป็นคัมภีร์ ใครจะมากล่าวอ้างเป็นอย่างอื่นไม่ได้ รวมทั้งต้องทำบันทึกให้ทีมงานนำไปประสาน ถ้าหากจำเป็นจะต้องตั้งเป็นคณะทำงานหรือเป็นกรรมการในระดับโครงการในพื้นที่ ก็ทำเป็นโครงการเล็กๆ และประสานการจัดสรรงบประมาณจนครบถ้วนกระบวนการตามพระราชดำริ

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 07 กุมภาพันธ์ 2012 เวลา 21:18 น.