บทความของอาจารย์วิจารณ์ พานิช

วันเสาร์ที่ 08 กันยายน 2012 เวลา 00:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท
พิมพ์

หนังสือ Reckless Endangerment : How Outsized Ambition, Greed, and Corruption Led to Economic Armageddon เปิดโปงคอรัปชั่น (แบบถูกกฎหมาย) ในสหรัฐอเมริกาอย่างล่อนจ้อนและน่าขยะแขยง    ที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ที่เราเรียกว่า วิกฤตซับไพรม์ บอกเราทำนองเดียวกันกับหนังสือ The Price of Inequality ที่ผมเคยบันทึกไว้ที่นี่

ผมชื่นชมสังคมอเมริกัน ที่เขากล้าเปิดโปง และมีหลักฐานให้เปิดโปง    รวมทั้งมีความอดทนอดกลั้นต่อกัน   แต่ก็แปลกใจว่าทำไมไม่มีกฎหมายให้ฟ้องเอาผิดต่อคนเหล่านี้

แค่อ่านคำนิยมที่ปกหลังของหนังสือ   หรือใน เว็บไซต์ของ Amazon ที่ให้ไว้แล้วตรง Editorial Review เราก็จะเห็นภาพว่า ในสหรัฐอเมริกามีนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ที่เป็นนักวิชาการอยู่ในตัว    ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของชาติ   โดยทำงาน investigative journalism    และเลี้ยงตัวได้ดี    ผมฝันอยากให้สังคมไทยเรามีคนและระบบเช่นนี้บ้าง

คนที่เขียนหนังสือเช่นนี้ได้ต้องสะสมทุนปัญญาไว้มาก   ดังที่เขาเขียนไว้ใน Notes on Sources หน้า 309 ว่า ข้อมูลมาจากการทำงาน original reporting ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1990s ถึงปี 2010   โปรดสังเกตคำว่า original reporting ผู้เขียนทั้งสองมีข้อมูลยืนยันการเขียนหนังสือเล่มนี้   ผู้มีชื่อถูกพาดพิงจึงฟ้องหมิ่นประมาทเขาไม่ได้

คนที่ถูกระบุเป็นตัวการใหญ่ของวิกฤตนี้คือ James A. Johnson, Chairman and CEO ของบริษัท Fannie Mae   ลองอ่านประวัติของเขาในวิกิพีเดียตาม ลิ้งค์ ที่ให้ไว้ดูนะครับ   จะเห็นว่าเขาทำร้ายสังคมด้วยการฉ้อโกงอย่างไร   และคนแบบนี้อาศัยความสามารถของตน อิทธิพลทางการเมืองและทางธุรกิจ สูบเอาผลประโยชน์ส่วนรวมเข้าตนเองอย่างไร   เขาเกี่ยวข้องกับโอบามา ก่อนเป็นประธานาธิบดีด้วย   ผมเดาว่าคนแบบนี้มีอยู่ในทุกสังคม   และบางสังคมรวมทั้งไทย ยังไม่มีกลไกเปิดโปงคนแบบนี้อย่างในสหรัฐอเมริกา

วิจารณ์ พานิช

๗ ส.ค. ๕๕

คำสำคัญ (keywords): คอรัปชั่น, ชีวิตที่พอเพียง, หนังสือ, 550907, Reckless Endangerment
แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 08 กันยายน 2012 เวลา 20:16 น.