Date:
22/11/2017
Economic Intelligence Center (EIC):
เปิดมุมมองธุรกิจด้วย Big Data เรื่องในเล่ม
Big
Data เป็นข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลาย
ไม่มีโครงสร้างและรูปแบบที่แน่นอน
ซึ่งเกิดขึ้นและถูกรวบรวมได้อย่างรวดเร็วในโลกยุคดิจิทัล เช่น ข้อมูลที่ได้จาก call center, text message ข้อมูลในโซเชียลมีเดีย
อย่าง Facebook, Instagram หรือ Twitter ซึ่งการเติบโตของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต
และอุปกรณ์อัจฉริยะที่สามารถส่งข้อมูลถึงกัน รวมไปถึงพฤติกรรมบนสมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดีย
ที่คนชอบรีวิว กดไลค์ คอมเมนต์ ส่งผลให้ Big Data ในลักษณะข้อความ
ภาพ เสียง วีดีโอถูกสร้างขึ้นตลอดเวลา
ต่างจากข้อมูลแบบดั้งเดิมซึ่งเป็นเพียงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
เช่น ยอดขาย ฐานข้อมูลลูกค้า เป็นต้น การวิเคราะห์
Big
Data ช่วยให้ธุรกิจสามารถค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงและตัวแปรในรูปแบบใหม่ๆ
มากขึ้น ในขณะที่ข้อมูลแบบดั้งเดิม
มีโครงสร้างที่แน่นอนอาจนำมาใช้คาดการณ์ได้จำกัด ธุรกิจสามารถนำข้อมูลภายในบริษัทและข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่บนโลกออนไลน์
อย่างไลฟ์สไตล์ของลูกค้า สภาพอากาศ ข้อมูลของคู่แข่ง
มาประกอบกันเพื่อวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ สร้าง insight ให้กับธุรกิจ และคาดการณ์แนวโน้มให้ถูกต้องแม่นยำ
เช่น จะผลิตสินค้าอะไรให้ตรงใจลูกค้า ลูกค้าลักษณะแบบนี้จะซื้อสินค้าอะไรคู่กัน
ซื้ออะไรก่อนหลัง ในขณะที่ข้อมูลแบบเก่าจะแสดงให้เห็นภาพสิ่งที่เกิดขึ้นได้ระดับหนึ่ง
แต่มีข้อจำกัดในการอธิบายสาเหตุ เช่น ข้อมูลจากการสำรวจสะท้อนเพียงความคิดเห็น
และความตั้งใจ ไม่ใช่การวิเคราะห์จากพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงๆ บริษัทไทยส่วนใหญ่ที่เริ่มนำ
Big
Data มาใช้วิเคราะห์แล้ว
มุ่งเน้นใช้ประโยชน์ในด้านพัฒนาการขายและการตลาด จากข้อมูลและความคิดเห็นของบริษัทชั้นนำไทยกว่า
60 แห่งพบว่า ธุรกิจเกินครึ่งนำ Big Data
มาใช้แล้วราว 1-3
ปีซึ่งทั้งภาคบริการและภาคการผลิตนำมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาการขายและการตลาดมากที่สุด
เช่น การตั้งราคาและจัดโปรโมชั่นให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ทั้งนี้
ธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ขายสินค้าแบบเดียวกัน อย่างธุรกิจโทรคมนาคม
อสังหาริมทรัพย์จะใช้ประโยชน์จาก Big Data ในด้านการปรับปรุงสินค้าและบริการให้มีมูลค่าเพิ่ม
ให้มีความแตกต่างจากคู่แข่งส่วนธุรกิจในภาคการผลิตอย่างอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า
ยานยนต์และชิ้นส่วน จะใช้ประโยชน์จาก Big Data เพื่อเพิ่มผลิตภาพ
มุ่งสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน คาดว่าภายใน
3 ปีข้างหน้า Big Data จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ในภาคธุรกิจไทยมากขึ้น
เพื่อตามให้ทันเทรนด์ของผู้บริโภคที่เป็น Smart Consumer และพัฒนาธุรกิจให้ก้าวไปเป็น
Smart Company กว่า 70% ของบริษัทที่ยังไม่ได้เริ่มใช้ Big Data วางแผนจะนำข้อมูลดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในอนาคต
ซึ่งระยะเวลาเตรียมความพร้อมส่วนใหญ่อยู่ที่ราว 1-3 ปี ทั้งนี้ ธุรกิจสามารถสร้างและเก็บ
Big Data มาวิเคราะห์เพื่อตอบสนองผู้บริโภคไทยยุคใหม่ที่มีพฤติกรรมการบริโภคซับซ้อนขึ้น
คาดหวังสูง ภักดีต่อแบรนด์น้อยลง และได้รับอิทธิพลจากสื่อออนไลน์ในการเลือกซื้อ
เปรียบเทียบสินค้า นอกจากนี้ การประยุกต์ใช้ Big Data ยังสามารถลดต้นทุน
ยกระดับกระบวนการผลิต และพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพื่อแก้ปัญหา “เงิน งาน คน” ภายในบริษัทท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในอนาคต การตัดสินใจของผู้บริโภคไทยยุคใหม่มีความซับซ้อนมากขึ้น
เป็นเหตุให้ธุรกิจต้องอาศัยข้อมูลใหม่ๆ เพื่อทำความเข้าใจที่มาของพฤติกรรมต่างๆ
อย่างละเอียด เพื่อพิชิตใจผู้บริโภค อีไอซีพบว่าผู้บริโภคไทยกว่า 80% คาดหวังให้สินค้าและบริการมีลักษณะตามที่ตนเองต้องการมากที่สุด
โดยยกให้คุณภาพมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง และยังมีแนวโน้มที่จะมีความภักดีต่อแบรนด์น้อยลง
ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความท้าทายที่ธุรกิจต้องเผชิญ ทั้งนี้ Big Data นับว่าเป็นเครื่องมือทรงพลังที่จะช่วยให้ธุรกิจเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคในเชิงลึกมากขึ้น
โดยเฉพาะจากการวิเคราะห์ข้อมูลในยุคดิจิทัลที่แสดงพฤติกรรมของลูกค้าที่เกิดขึ้นจริง
เช่น การโพสต์ข้อความและรูปภาพในโซเชียลมีเดีย คำที่ใช้ค้นหาใน
search engine และข้อมูลจากอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต
(Internet of Things: IoT) เป็นต้น
ทำให้ธุรกิจสามารถวางกลยุทธ์ได้ตรงใจผู้บริโภคแต่ละรายมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการตลาดส่วนบุคคล (personalized marketing) การตั้งราคาให้เหมาะสม
(price optimization) รวมไปถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
(cross-selling) เป็นต้น ธุรกิจสามารถพัฒนาองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล
โดยเฉพาะข้อมูลภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่รวบรวมจากเซ็นเซอร์จุดต่างๆ
ในสายการผลิต
ข้อมูลการทำงานและพฤติกรรมของพนักงานเพื่อประโยชน์ในการรักษาพนักงานเดิมและการสรรหาพนักงานใหม่ ปัจจุบันความสามารถในการแข่งขันของบริษัทไทยกำลังเผชิญความท้าทายในหลายๆ
ด้าน ทั้งในส่วนของต้นทุนการดำเนินงานที่พุ่งสูงขึ้น
ผลิตภาพการผลิตมีอัตราการเติบโตถดถอยลง รวมไปถึงการเปลี่ยนงานบ่อยของคนรุ่นใหม่
ซึ่งการปรับปรุงระบบการผลิตและระบบงานภายในองค์กรให้สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ
ในรูปแบบดิจิทัล เช่น การติดตั้งเซ็นเซอร์ในสายการผลิตเพื่อจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่และนำมาวิเคราะห์
จะทำให้ผู้ผลิตทราบและคาดการณ์ถึงจุดที่จะเป็นปัญหาและต้องการการแก้ไขหรือปรับปรุงอย่างเร่งด่วน
ทำให้สามารถเข้าไปจัดการได้ทันท่วงที ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียและเพิ่มผลิตภาพในสายพานการผลิต
นอกจากนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวพฤติกรรมและความสนใจของคนยังสามารถช่วยหาคนที่มีความเหมาะสมกับงานและมีแนวโน้มที่จะอยู่กับองค์กรในระยะยาว
รวมถึงการรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กร อีไอซีมองว่าธุรกิจที่มีโอกาสใช้
Big
Data ได้ก่อน ได้แก่ ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ขนส่งและโลจิสติกส์
โทรคมนาคมและสื่อ เนื่องจากข้อมูลมีความพร้อม
และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายด้านสำหรับบริษัทที่ต้องการเริ่มเก็บ Big
Data สามารถทำได้โดยปรับโฉมให้เป็นดิจิทัล อีไอซีใช้เครื่องชี้วัดสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่
ความพร้อมของข้อมูล ประโยชน์เชิงธุรกิจที่ได้รับ และระยะเวลาเตรียมตัว พบว่าธุรกิจค้าส่งค้าปลีก
ขนส่งและโลจิสติกส์ โทรคมนาคมและสื่อ มีโอกาสใช้ประโยชน์จาก Big Data ได้สูงกว่าธุรกิจอื่น เนื่องจากเป็นธุรกิจภาคบริการที่ใกล้ชิดกับลูกค้า
ข้อมูลของธุรกิจถูกสร้างขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ข้อมูลจากการซื้อของออนไลน์ จาก GPS
จากการใช้บริการโทรศัพท์แบบ voice และ data
เป็นต้น และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวางกลยุทธ์การขายและการตลาด
พัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบสนอง กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
ในส่วนของบริษัทที่เริ่มเห็นประโยชน์จาก Big Data ควรปรับตัวให้เป็นดิจิทัลเพื่อสร้างข้อมูล
real-time มากขึ้น เช่น สร้างเว็บไซต์บริษัท
ทำหน้าโซเชียลมีเดีย ติดตั้งเซ็นเซอร์ในสายพานการผลิต และนำข้อมูลภายนอกมาประกอบการวิเคราะห์กับข้อมูลภายในบริษัท
เพื่อพัฒนาธุรกิจและคาดการณ์เทรนด์ให้ก้าวไปก่อนคู่แข่ง ธุรกิจต่างๆ
มีแนวโน้มมุ่งสู่การขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูล (data-driven) มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้ Big Data ให้ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องมีการตั้งวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน
มีโจทย์ที่ต้องการตอบอย่างแน่ใจ
เลือกใช้ข้อมูลที่เหมาะสมและมีบุคลากรที่มีความสามารถในการวิเคราะห์ แม้ในบางครั้งผู้ประกอบการจะใช้ประสบการณ์หรือสัญชาตญาณในการตัดสินใจดำเนินธุรกิจแต่ก็ควรใช้ประโยชน์จากข้อมูลให้ได้มากที่สุดเพื่อลดอคติส่วนบุคคล
ซึ่งสิ่งสำคัญของการนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ให้เกิดมูลค่าในเชิงธุรกิจอยู่ที่การเลือกข้อมูลที่ต้องการใช้ให้ถูกต้อง
ใช้กระบวนการคิดและเครื่องมือการวิเคราะห์ที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์วัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ได้วางไว้
อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ Big Data ไม่ใช่เครื่องมือเพียงชนิดเดียวที่การันตีความสำเร็จของธุรกิจ
ผู้ประกอบการยังต้องมองรอบด้านแล้วปรับตัวไปตามเทรนด์ของอุตสาหกรรมเพื่อการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน |