ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่ : 8. แรงบันดาลใจ

บันทึกชุด ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่ นี้ ตีความจากหนังสือ Small Teaching : Everyday Lessons from the Science of Learning (2016)  เขียนโดย James M. Lang

 ตอนที่ ๘ แรงบันดาลใจ  ตีความจาก Part III  Inspiration   ซึ่งเป็นคำกล่าวนำสำหรับหนังสือ ๓ บทสุดท้าย ที่อยู่ใต้หัวข้อ แรงบันดาลใจ    และผมเห็นว่าเป็นข้อความที่มีความสำคัญมาก    จึงนำมาตีความไว้เป็นตอนหนึ่ง แยกต่างหาก

แรงบันดาลใจเป็นทั้งตัวกระตุ้น และตัวถ่วงการเรียนรู้    เพราะแรงบันดาลใจมีทั้งมิติเชิงบวก และมิติเชิงลบ    James Lang บอกว่า เพื่อชีวิตที่ดี มนุษย์เราต้องการแรงบันดาลใจ พอๆ กับต้องการความรู้และทักษะ    ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง    และขอเพิ่มเติมว่า ทักษะในการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ตนเอง เป็นสิ่งสำคัญมาก สำหรับชีวิตที่ดี

 

อารมณ์

การเรียนรู้ เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์   ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเลือดเนื้อ จิตใจ วิญญาณ เจตคติ และอารมณ์    เรามักเข้าใจผิดว่า เจตคติและอารมณ์มีส่วนรบกวนการเรียนรู้    ที่จริงความเข้าใจนี้ไม่ผิด แต่ไม่ครบถ้วน    เพราะจริงๆ แล้ว เจตคติและอารมณ์อาจมีผลลบหรือผลบวกต่อการเรียนรู้ก็ได้    และการเรียนรู้ที่ดี มีพลัง ต้องมีอารมณ์เข้ามาเป็นตัวกระตุ้น    ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ของสมอง บอกว่าส่วนของสมองที่ทำหน้าที่ด้านอารมณ์ (limbic system)  และส่วนของสมองที่ทำหน้าที่ด้านความจำ (hippocampus) อยู่ติดกัน

แต่อารมณ์ค้างคา วิตกกังวล ขุ่นมัว เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้   James Lang เล่าประสบการณ์ตรงของตนเองตอนเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยปีสาม ตกหลุมรักสาวที่ปัจจุบันคือภรรยา ทำให้ไม่มีสมาธิในการเรียน    ผมสมัยเรียนในมหาวิทยาลัยผมเคยเห็นเพื่อนที่ตกหลุมรักเพื่อนสาวแล้วอกหัก ถึงกับสอบตก   และจริงๆ แล้ว สารพัดเหตุการณ์ในชีวิต ในครอบครัว ในหมู่เพื่อน ในสังคม และในโลก  มีผลกระทบในทางใดทางหนึ่งต่อการเรียนด้วยเสมอ ไม่มากก็น้อย    

จะเกิดผลดีต่อการเรียนรู้ หากมีอารมณ์ไม่เชื่อ สนเท่ห์ เพราะมันส่งแรงกระตุ้นให้เรามุ่งค้นหาความเป็นจริง หรือคำอธิบาย    หรือแม้แต่อารมณ์เชิงลบ เช่นความสับสน ความอึดอัดขัดข้อง ก็อาจเป็นแรงขับดันเชิงบวกต่อการเรียนรู้ หากเราเชื่อว่าความรู้ที่ได้จะช่วยขจัดความอึดอัดขัดข้องเหล่านั้น  

เขาอ้างถึงหนังสือ What the Best College Teachers Do (2004) เขียนโดย Ken Bain    ว่านักศึกษามาเรียนโดยมีกระบวนทัศน์ชุดหนึ่งติดตัว (ติดหัว?) มา    โดยที่กระบวนทัศน์เหล่านั้น มีทั้งที่ถูกต้อง และที่ผิดพลาด   หน้าที่ของอาจารย์ (และสถาบันการศึกษา) คือช่วยให้นักศึกษาทำลายหรือลบกระบวนทัศน์ส่วนที่ผิดออกไปเสีย   และช่วยสร้างความแข็งแรงหรือเติมเต็มให้แก่กระบวนทัศน์ที่ถูกแต่ยังไม่ครบถ้วน   รวมทั้งช่วยส่งเสริมให้สร้างกระบวนทัศน์ใหม่ที่ถูกต้อง   

และที่สำคัญยิ่งคือ การสร้างความตระหนักให้แก่นักศึกษาว่า กระบวนทัศน์ต่อโลกและชีวิตของตนยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์   และต้องเอาใจใส่การเติมเต็มหรือแก้ไขให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ผมขอเติมส่วนความเห็นของตนเองด้วยว่า ในความเป็นจริงแล้ว คนเราไม่สามารถมีกระบวนทัศน์หรือความรู้ความเข้าใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งแบบครบถ้วนสมบูรณ์ (หรือที่เรียกว่า สัมบูรณ์) ได้    เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง มีความซับซ้อน และมีความเป็นพลวัตยิ่ง    สรรพสิ่งไม่ได้หยุดนิ่งตายตัว    แต่มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา   และสรรพสิ่งเชื่อมโยงถึงกัน   หลายส่วนเราไม่รับรู้ แต่มีผลกระทบทางอ้อม (หรือทางตรง แต่เราไม่รับรู้) ต่อสิ่งที่เป็นองค์ประกอบสู่การสร้างกระบวนทัศน์ของเราแต่ละคน

การเรียนรู้ที่แท้จริง คือการแก้ไขกระบวนทัศน์ที่ผิด   เติมเต็มกระบวนทัศน์ที่ยังกระพร่องกระแพร่ง   และสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ที่ถูกต้อง    เมื่อมองเช่นนี้ ก็เชื่อมโยงไปยัง การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (transformative learning)    ซึ่งเป็นกระบวนการทางปัญญาที่แท้จริง  

หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของอาจารย์ คือแสดงอารมณ์รักใคร่หวังดีต่อนักศึกษา

  

เจตคติ

เจตคติที่สำคัญที่สุดต่อการเรียนรู้คือเจตคติว่าด้วยความสามารถหรือความฉลาดของตน    ที่เชื่อในพลังของการฝึกฝนเรียนรู้ เชื่อว่าความมานะบากบั่นพยายามจะนำมาซึ่งความสำเร็จได้    ที่เรียกว่า “กระบวนทัศน์พัฒนา” (growth mindset)    ไม่ใช่เชื่อว่าความฉลาดหรือความสามารถในการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดและคงที่    ซึ่งเรียกว่า “กระบวนทัศน์หยุดนิ่ง” (fixed mindset)    คนที่มีกระบวนทัศน์หยุดนิ่งจะละความพยายามได้ง่าย เมื่อเผชิญความยากลำบาก    ดังเราจะพบเด็กบางคนที่กล่าวคำว่า “ผมไม่ถนัดด้านการเขียน”   “หนูไม่ถนัดวิชาคำนวณ”   ซึ่งจะนำไปสู่การละเลยไม่หมั่นฝึกฝนตนเองในเรื่องนั้นๆ   

ท่านที่สนใจเรื่อง growth mindset อ่านได้ที่ https://www.gotoknow.org/posts/tags/growth%20mindset



วิจารณ์ พานิช

๒๑ ก.พ. ๖๑




บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน สภามหาวิทยาลัย