สัญญาณอันตราย
ผมมีความเห็นว่า ความตื่นตัวต่อสัญญาณอันตรายเป็นธรรมชาติที่มีคุณต่อชีวิตบุคคล และระบบเตือนภัยของบ้านเมืองเป็นเรื่องสำคัญต่อความมั่นคง
ผมจำได้ว่า ช่วงปี ๒๕๓๘ - ๒๕๔๐ ช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ประเทศไทยล้มละลาย มีคนออกมาเตือนเรื่องฟองสบู่เป็นระยะๆ และจะโดนผู้บริหารบ้านเมืองสมัยนั้นด่าว่า ว่าบ่อนทำลายบรรยากาศการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่จำได้แม่นยำที่สุดคือ นายกฯ บรรหาร
บทความ Rectify Financial Imbalances Before It’s Too Late โดย ทนง ขันทอง ใน นสพ. เดอะ เนชั่น วันที่ ๑ มี.ค. ๕๖ บอกเราว่ามีสัญญาณอันตรายหลายอย่าง เช่น นโยบายประชานิยม ทำให้หนี้สาธารณะพุ่งสูงขึ้น นโยบายก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และนโยบายประชานิยม ทำให้มีการใช้จ่ายภาครัฐในโครงการใหญ่ๆ ธนาคาร เอสเอ็มอี และธนาคารอิสลาม ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐ มีหนี้เสียรวมกัน ๘ หมื่นล้านบาท ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีหนี้จากการรับจำนำข้าวและโครงการอื่นๆ ของรัฐบาล ๖ แสนล้านบาท
หนี้ครัวเรือนพุ่งขึ้นเป็น ๒.๙ ล้านล้านบาท จากการสนับสนุนของรัฐบาลด้วยโครงการประชานิยม
ผมอ่านแล้ว สงสัยว่า เศรษฐกิจที่ดูดีในขณะนี้ มันซ่อนของเน่าเสีย หรือลมที่ว่างเปล่า ไว้ข้างใน เหมือนเมื่อปี ๒๕๓๘ - ๒๕๔๐ หรือไม่
แต่ที่วิตกอย่างยิ่ง คือ มันเปลี่ยนใจคนไทย เปลี่ยนมาตรฐานจริยธรรม ให้ถือว่าการคอรัปชั่นทรัพย์สมบัติส่วนรวมเป็นเรื่องปกติ
วันที่ ๒ มี.ค. ๕๖ มีโอกาสพบผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่รู้เรื่องการรับจำนำข้าวดี และเป็นบุคคลน่าเชื่อถือ ท่านบอกว่าเขาไม่ได้จริงจังกับการขายข้าวที่รับจำนำมา แต่จริงจังกับการปั่นเพื่อให้เกิดกิจกรรมที่เงินไหลเข้ากระเป๋าคนบางคนมากกว่า ผมไม่มีพื้นความรู้พอที่จะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ จึงฟังหูไว้หู ไม่ปักใจเชื่อเสียทั้งหมด แต่ก็เป็นห่วงบ้านเมือง
วิจารณ์ พานิช
๑ มี.ค. ๕๖ ปรับปรุง ๓ มี.ค. ๕๖
สวัสดีครับ อาจารย์วิจารณ์
ผมเป็นคนหนึ่งที่วิตกเช่นอาจารย์ครับ เรียนตามตรงว่ากลัวและเป็นห่วงชาติบ้านเมืองจริงๆครับ ก็ยังโชคดีที่ยังทำใจได้ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิมีจริง คนที่ไม่หวังดีต่อประเทศชาติ จะต้องได้รับผลที่ตัวเองก่อ และคนทำความดีจะต้องได้รับการปกป้องหรือได้รับผลกระทบที่น้อยกว่าคนทั่วๆไป ทำให้ไม่หมดกำลังใจพยายามทำในสิ่งที่คิดว่าดีที่สุด อะไรจะเกิดก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามนั้น เป็นวิบากกรรมของคนไทย แต่ก็ไม่ใช่ปล่อยไปตามยถากรรม ก็ต้องช่วยกันผนึกกำลังเพื่อช่วยกันแก้ไขสิ่งไม่ถูกต้องให้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ส่วนจะทำได้แค่ไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท