การฝึกทักษะเป็นเรื่องสนุกสำหรับผม และการทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายเป็นสิ่งท้าทาย หลังจากเอาใจใส่ฝึกมาระยะหนึ่งผมก็พบว่าจะว่าง่ายก็ง่ายจะว่ายากก็ยาก
ที่ว่ายากก็คือเรื่องยากมักมีความซับซ้อนที่ว่าง่ายก็คือในความซับซ้อนมีความเรียบง่ายซ่อนอยู่
สมัยทำงานในมหาวิทยาลัยและที่สกว. ผมแอบใช้“ครู”หลายคนเป็นตัวอย่างฝึก systems thinking ให้แก่ตนเอง ฝึกมองให้เห็นpattern บางอย่างที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราวหรือปรากฏการณ์ต่างๆ โดยฝึกทำความเข้าใจความเชื่อมโยงและพลวัต
อีกวิธีหนึ่งคือหัดคิดถึงroot cause ของเรื่องต่างๆ หัดมองสิ่งที่เห็นเป็น“อาการ” โยงอาการไปสู่ตัวโรคและสาเหตุของโรค ในที่สุดก็จะคิดออกว่า“หัวใจ”ของเรื่องนั้นๆคืออะไร
เป็นวิธีหาความเรียบง่ายในท่ามกลางความซับซ้อนสับสน ได้เป็น“กระบวนทัศน์”ในเรื่องนั้นๆ ถ้าจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของสิ่งซับซ้อนเช่นนั้นก็ต้องขับเคลื่อนการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ โดยที่คุณค่าของการเปลี่ยนกระบวนทัศน์คือเป้าหมายที่มีความหมายยิ่งใหญ่ต่อส่วนรวมหรือต่อสังคม
เป้าหมายที่มีคุณค่ายิ่งใหญ่คือศูนย์รวมใจรวมพลัง
การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ด้วยวิธีไม่ใช้อำนาจบังคับ (เพราะไม่มี) ก็ต้องใช้วิธีขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก วิธีหนึ่งคือหา success story เล็กๆที่เป็นหน่ออ่อนของกระบวนทัศน์ใหม่ และผู้คนที่สร้างความสำเร็จนั้น จัดเวทีเรื่องเล่าและAppreciative Inquiry ให้การยกย่องชื่นชมและให้รางวัล พร้อมทั้งempower ให้ทำต่อเนื่องและขยายผล
ตัวsuccess story จำนวนมากและผู้สร้างสรรค์ จะเชื่อมโยงกันเองเป็นเครือข่าย เกิดการช่วยเหลือส่งเสริมกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การลงมือทำเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่เป้าหมายที่ทรงคุณค่าร่วมกัน
พลังของเป้าหมายที่ทรงคุณค่า กับวิธีการจัดการเชิงบวกให้พลังบวกคือพลังความสำเร็จ (เล็กๆ) และพลังความชื่นชม ร่วมกับเวทีลปรร. ประสบการณ์จากการปฏิบัติ ทำต่อเนื่องหมุนเกลียวความรู้ยกระดับ เป้าหมายที่บรรลุยากจะไม่ใช่สิ่งที่บรรลุไม่ได้
นั่นคือKM เป็นเครื่องมือทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย
วิจารณ์ พานิช
๗ ก.พ. ๕๖