ทุนภายใน
มนุษย์มีทุนติดตัวมาไม่เท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับผลของการกระทำในอดีตชาติ ทุนมนุษย์แบ่งออกเป็นสองทุนใหญ่ๆได้แก่ทุนภายในและทุนภายนอก ทุนภายในได้แก่ทุนทางจิตเป็นทุนดั้งเดิมของมนุษย์แต่ละคน ส่วนทุนภายนอกได้แก่ทุนที่ได้มาจากผู้อื่นกับทุนที่แสวงหามาเพิ่มเติม เป็นทุนที่ไม่แน่นอน เช่นทุนทางสังคม ได้แก่การมีหน้ามีตาได้รับการยกย่องในสังคม ทุนทางการศึกษา ได้รับการยกย่องว่ามีความรู้ ทุนทางปัญญา ได้แก่การแสวงหาความรู้และนำความรู้ที่ได้มาไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเองและผู้อื่น รวมถึงทุนทางทรัพย์สินเงินทอง
มนุษย์ที่เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย ถือว่ามีทุนภายนอกมากกว่ามนุษย์ที่เกิดมาในครอบครัวที่ยากจน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีทุนภายในมากกว่า ทุนภายในเป็นทุนที่กำหนดคุณค่าของความเป็นมนุษย์ โดยมีทุนภายนอกเป็นส่วนประกอบที่มีทั้งส่วนให้การสนับสนุนและส่วนที่ช่วยทำลายคุณค่าของความเป็นมนุษย์
สังคมทุนนิยมเป็นตัวกำหนดให้มนุษย์มุ่งเน้นเพื่อแสวงหาทุนภายนอกให้กับตัวเองและครอบครัว โดยเข้าใจว่าการมีทุนมากกว่าจะเป็นผู้ที่เหนือกว่าคนอื่น ต่างแข่งขันกันหาเงินให้ได้มากที่สุดเพื่อจะได้มีชีวิตที่เหนือกว่าผู้อื่น โดยไม่คำนึงถึงความพอเพียงและการแบ่งปัน
ผู้ที่มีฐานะร่ำรวยใช้เงินซื้อทุกสิ่งที่ตัวเองอยากได้โดยไม่คำนึงถึงมนุษยธรรม ผู้ที่มีอำนาจวาสนาใช้อำนาจในการแสวงหาเงินทอง เพื่อเก็บเงินทองไว้เป็นมรดกให้กับลูกหลาน มนุษย์ที่เกิดมาในครอบครัวเหล่านี้จึงมีโอกาสมากกว่า มนุษย์ที่เกิดมาในครอบครัวธรรมดาที่ไม่ได้ร่ำรวยและไม่มีอำนาจ เช่นการศึกษามนุษย์ที่เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย หรือ ครอบครัวที่มีอำนาจวาสนา จะมีโอกาสได้ร่ำเรียนสูงกว่า มนุษย์ที่เกิดมาในครอบครัวปานกลางหรือครอบครัวที่ยากจน จึงมีโอกาสที่จะได้ทำงานที่ดีมีรายได้มากกว่า มีโอกาสที่จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนหรือผู้นำของสังคม
ผู้นำสังคมในปัจจุบันมาจากกลุ่มผู้มีเงินและอำนาจวาสนา จึงได้กำหนดคุณค่าของมนุษย์โดยใช้ตัวชี้วัดตามคุณสมบัติของกลุ่มตัวเองว่าเป็นผู้ที่มีคุณค่ามากกว่ามนุษย์ในกลุ่มอื่น สังคมได้กำหนดตัวชี้วัดคุณค่าของมนุษย์จากทุนภายนอกดังนี้
๑) เศรษฐี มีเงินทองและทรัพย์สมบัติมาก ( ทุนทางทรัพย์สิน)
๒) เจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ (ทุนทางสังคม)
๓) ข้าราชการระดับสูงหรือนักการเมือง (ทุนทางสังคม)
๔) นักวิชาการ (ทุนทางการศึกษา)
๕) ผู้ที่จบการศึกษาสูงๆ (ทุนทางการศึกษา)
จากตัวชี้วัดดังกล่าว ทำให้มนุษย์ต้องแข่งขันกันหาเงินและอำนาจเพื่อทำให้ตัวเองหรือลูกหลานได้รับ
การยอมรับว่าเป็นผู้มีคุณค่า ผู้ที่ยังไม่ร่ำรวยหรือมีอำนาจวาสนาต้องวิ่งหาเงินทองเพื่อนำมาเป็นทุนให้ลูกได้เรียนสูงๆเพื่อมีโอกาสแข่งขันกับผู้อื่น เกิดการชิงดีชิงเด่น แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ทำให้สังคมขาดความสามัคคี ไม่มีความจริงใจ และซื่อสัตย์ มีแต่ผู้คอยรับ แต่ขาดผู้ให้ เห็นแก่ตัว เอาแต่ได้โดยไม่คำนึงถึงส่วนรวม มนุษย์ที่ร่ำรวยและมีอำนาจส่วนใหญ่ ไม่รู้จักพอเพียง ยิ่งรวยมากเท่าใดก็ยิ่งต้องการได้มากขึ้นอีกเป็นเงาตามตัว ไม่มีการแบ่งปันให้คนอื่น แถมยังเอาเปรียบและฉ้อโกงเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทองและอำนาจที่มากขึ้น ทั้งๆที่อำนาจและเงินทองที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือไม่มีวันใช้ได้หมด แต่ก็ยังต้องการหามาเพิ่ม แทนที่จะนำไปแบ่งให้กับผู้ยากจนและขัดสน หรือให้การสนับสนุนกับผู้ที่ด้อยกว่า
มนุษย์ที่มีทุนภายนอกมากจะไม่ได้รับความสุขอย่างแท้จริงถ้าไม่มีทุนภายในมากพอ ยิ่งแสวงหาทุนภายนอกมากเท่าใด โดยไม่รู้จักความพอเพียง เอาเปรียบไม่รู้จักการแบ่งปันและให้ผู้อื่นบ้าง ทุนภายในก็จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆจนแทบจะไม่เหลือหรือติดลบ จนในที่สุดความล่มสลายก็จะเกิดขึ้นกับตัวเองและครอบครัว
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นตัวชีวัดทุนภายในของมนุษย์ได้ชัดเจนที่สุด ถ้ามนุษย์ผู้ใดเข้าใจ “เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และได้นำไปปฏิบัติ มนุษย์ผู้นั้นจะเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง
ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท
๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๙