มูลนิธิสยามกัมมาจลมีเจ้าหน้าที่หนุ่มสาวจำนวนหนึ่ง เข้าไปทำงานร่วมกับภาคี เพื่อพัฒนาเยาวชนโดยที่มูลนิธิฯ มียุทธศาตร์ทำหน้าที่เป็น catalyst เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ในด้านการพัฒนาเยาวชน ให้แก่สังคมไทย

มูลนิธิสยามกัมมาจล ทำงานมา ๗ ปี สั่งสมประสบการณ์และผลงานมากพอสมควรผมจึงปรึกษาผู้จัดการมูลนิธิ (คุณเปา - ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร) ว่าน่าจะทดลองตั้งวงคุยในกลุ่มเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯในลักษณะของวงสุนทรียเสวนา (dialogue)เพื่อเรียนรู้จากงานที่ทำเป้าหมายสำคัญที่สุดคือ เรียนรู้คุณค่าของมันผมตั้งชื่อวงคุยนี้ว่า Morning Dialogue หรือสุนทรียสนทนายามเช้า คุยกันตั้งแต่ ๘.๐๐ - ๑๐.๐๐ น.โดยช่วง ๔๐ นาทีหลังจะเป็นการ AAR

เป้าหมายของวงเสวนาแบบนี้ เพื่อล่อหรือส่งเสริมให่ความรู้ที่หายาก โผล่ออกมาโดยที่ความยากคือคนไม่คุ้น ไม่มีจริตและทักษะของการประชุมแบบสุนทรียเสวนา (dialogue)คอยแต่จะทำ presentation ตามด้วย discussion อยู่เรื่อยวงเสวนาจึงแข็งๆ เกร็งๆไม่ลื่นไหล ไม่เฮฮาไม่มีบรรยากาศ "ส้นเท้า" (S. O. L. E. - Self-Organized Learning Organization) ที่มีบรรยากาศผ่อนคลายมีอิสระ ปลอดความกังวลเรื่องถูก-ผิดสมาชิกวงเสวนามีความไว้วางใจซึ่งกันและกันว่าทุกคนมีอิสระ ที่จะเผย ความในใจของตนออกมา

เช้าวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๗ เป็นครั้งที่ ๓ ของวง Morning Dialogueโดยคุณแจงกับคุณโจ้ เตรียมมาเล่าเรื่อง โครงการสนับสนุนองค์กรเพื่อพัฒนาเยาวชน คุณโจ้เตรียม PowerPoint อย่างดี เตรียมมานำเสนอระหว่างรอเวลาเริ่ม ผมชวนคุณโจ้กับคุณแจงคุยเรื่องการเรียนปริญญาเอก ที่คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อสร้าง บรรยากาศที่ผ่อนคลายเป็นกันเอง

โจ้เตรียมมานำเสนอเต็มที่แต่ผมขัดขึ้นว่า โจ้กับแจงใครเด็กกว่า (อายุน้อยกว่า)ควรได้รับเกียรติเป็นคนพูดก่อน ตามหลัก KMแจงจึงต้องเป็นคนพูดก่อนผมรู้ว่าแจงคงจะไม่ได้เตรียมมานำเสนอคงจะตกลงกันกับโจ้ให้โจ้เสนอแต่จริงๆ แล้ววงแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบนี้ เราไม่ต้องการให้นำเสนอต้องการให้เล่าเรื่อง (storytelling)ดังนั้น เมื่อแจง “นำเสนอ”ผมก็บอกที่ประชุมว่าในวงสุนทรียสนทนา เราไม่นำเสนอความคิดและการตีความเราเล่าเรื่อง ว่าตนเองได้ไปทำอะไร ด้วยความมุ่งหมายอะไร และเกิดอะไรตามมาคนที่ร่วมวงจะช่วยกันตีความ

ในที่สุด แจงกับโจ้ก็ช่วยกันเล่าเรื่องการไปทำงานร่วมกันกับ “พี่หนู” แห่งสงขลาฟอรั่ม ข้อค้นพบคือ การทำงานร่วมกัน ๑ ปี ทำให้ “พี่หนู” เปลี่ยนกระบวนทัศน์ว่าด้วยวิธีการพัฒนาเยาวชนเปลี่ยนจากเน้นที่การจัดโครงการ ชักชวนเยาวชนมาเข้ารับการอบรมมาเป็นชักชวนเยาวชนให้ร่วมกันคิดตั้งโจทย์ทำกิจกรรมที่ตนชอบ สนใจ และเป็นประโยชน์ต่อชุมชน/ท้องถิ่น ของตน

คือเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเยาวชน จาก Passive Learning เป็น Active Learningเยาวชนเป็นผู้รวมตัวกัน ลุกขึ้นมาเป็นผู้ริเริ่มลงมือทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาตนเอง เรียนรู้ และทำประโยชน์ให้แก่ชุมชน/ท้องถิ่น ของตน

วงเสวนา เห็นพ้องกัน ว่านี่คือข้อค้นพบที่ยิ่งใหญ่ทั้งของ “พี่หนู” และของมูลนิธิสยามกัมมาจลค้นพบว่า การพัฒนาเยาวชนที่ถูกต้อง ไม่ใช่การจัดฝึกอบรม (Training-Based Development)แต่เป็น Project-Based Youth Development)ที่เยาวชนเป็นผู้ร่วมกันคิดโจทย์ และลงมือดำเนินการโดยมีพี่เลี้ยงคอยช่วยโค้ชเน้นการโค้ชโดยการตั้งคำถาม

เราตั้งคำถามว่า วงการพัฒนาเยาวชนในประเทศไทยส่วนใหญ่ใช้กระบวนทัศน์ที่ถูกต้อง หรือใช้กระบวนทัศน์ที่ผิดคำตอบคือส่วนใหญ่ผิดโจ้เดาว่าที่ถูกน่าจะมีราวๆ ร้อยละ ๑๐เราจึงได้ปณิธานความมุ่งมั่นร่วมกันว่ามูลนิธิสยามกัมมาจลจะ ดำเนินการสร้างกระบวนทัศน์ที่ถูกต้อง ในการพัฒนาเยาวชน ให้แก่ประเทศไทยโดยดำเนินการร่วมกับภาคีที่กว้างขวาง

นี่คือ “ทอง” ที่เราช่วยกัน “ขุด” หรือ “ถลุง” ออกมาจากประสบการณ์ของการทำงานได้เป็นสมบัติ (Knowledge Asset) ที่มีค่ายิ่ง ต่อการทำงานพัฒนาเยาวชน และต่อประเทศไทย

เมื่อได้ “ทอง” นี้แล้ว เราจะเอามาใช้ทำประโยชน์ต่อประเทศไทยต่อไปอย่างไร

ขอบันทึกเชิง AAR ว่าเหตุการณ์ในเช้าวันนี้ ช่วยให้ผมเรียนรู้มาก ในเรื่องวิธีจัดการประชุมเพื่อ “สะกัด” ความรู้ปฏิบัติ ออกมาจากทีมงานปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ “ความรู้ฝังลึก” โผล่ออกมาคือ

บรรยากาศอิสระ หรือ S. O. L. E.

มีเป้าหมายที่ทรงคุณค่าร่วมกัน

กระบวนการสุนทรียสนทนา

การมีประสบการณ์ร่วมกันและมีส่วนที่ประสบการณ์ต่างกัน

“คุณอำนวย” ที่มีทักษะสูง

วิจารณ์ พานิช

๒๕ มี.ค. ๕๗

บนรถตู้เดินทางไปจันทบุรี

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย