บันทึกชุดนี้มี ๑๐ ตอน ที่ตีความจากการอ่านหนังสือ Education Nation : Six Leading Edges of Innovation in Our Schools เขียนโดย Milton Chen
บันทึกตอนที่ ๑๐ นี้ ตีความจาก Edge 6. The Youth Edge : Digital Learners Carrying Change in Their Pockets
นักเรียนในยุคปัจจุบันเกิดมาในยุคดิจิตัล และเติบโตมากับเครื่องเหล่านั้น เขามีทักษะในการใช้เครื่อง ไอซีที เป็นเรื่องปกติในชีวิต พูดง่ายๆ คือ เก่งกว่าครู
ชีวิตประจำวันของเด็กเหล่านี้ อยู่กับเครื่องมือ ไอซีที และหากได้รับการชักชวนให้ใช้เครื่องมือนี้ทำงาน สร้างสรรค์ที่ตนชอบ เขาจะทำอย่างกระตือรือร้น และเกิดการเรียนรู้สูงมาก มีความสามารถสร้างสรรค์สูงมาก อย่างไม่น่าเชื่อ
ดังนั้น นวัตกรรมทางการศึกษาอย่างหนึ่งคือ ให้/ใช้ นักเรียนเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงวิธีเรียนรู้ของตนเอง วิธีจัดการเรียนการสอนของครู และเปลี่ยนบทบาทของนักเรียน โดยเขาให้นักเรียนช่วยกันเขียน “บทบาทหน้าที่ (job description) ของนักเรียน” ตามแนวความคิดว่า นักเรียนเป็นผู้สร้างสรรค์ ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งนักเรียนจะต้องมีทักษะ/สมรรถนะ ดังต่อไปนี้
ทักษะ (skills)
/ ด้านสารสนเทศ
-มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีค้นหาและวิเคราะห์สารสนเทศที่ต้องการ โดยที่ทักษะด้านการอ่านและเขียนตามคตินิยมของการเรียนรู้แบบเดิม บูรณาการอยู่ในทักษะที่ซับซ้อนชุดนี้
-มีทักษะในการผลิตสื่อผสม (multimedia) โดยสามารถเลือกใช้และผสมคำ ภาพ และเสียง เพื่อสื่อสารเรื่องราว บทเรียน หรือแนวความคิด
/ ด้านการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทำให้ชั้นเรียนเป็นเสมือนที่ทำงานสมัยใหม่ โดยทีมนักเรียนร่วมกันผลิตผลงานที่ทะเยอทะยานก้าวหน้ากว่าที่คนคนเดียวจะสร้างสรรค์ได้ มีความสามารถสื่อสารต่อกัน และทำให้ความร่วมมือกันสร้างสรรค์เป็นสิ่งสนุกสนาน มีความเคารพในความแตกต่างทางความคิดและความแตกต่างอื่นๆ
คุณลักษณะ (qualifications)
/ มีความสงสัยใคร่รู้รอบด้าน เกี่ยวกับโลก ความสนใจวิทยาศาสตร์ และกลไกการทำงานของสิ่งต่างๆ รวมทั้งสนใจวิทยาศาสตร์ วรรณกรรม ศิลปะ
/ อยากมาโรงเรียน และไปยังสถานที่เพื่อการเรียนรู้ต่างๆ โดยมาโรงเรียนตรงเวลา และมีความพร้อมที่จะเรียน
/ รู้หน้าที่เรียนของตน
/ มีความขยันหมั่นเพียร มีความยืดหยุ่นยืนหยัดในสถานการณ์ยากลำบากและไม่ชัดเจน
ข้อที่ควรย้ำคือ ต้องเน้นที่ตัวนักเรียน เป็นผู้ลงมือทำเพื่อการเรียนรู้ของตนเอง เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ในระหว่างเพื่อนๆ รวมทั้งตัวนักเรียนก็เอื้อเฟื้อต่อครู ให้การทำหน้าที่ครูมีความสนุกสนานภาคภูมิใจ
โรงเรียน กลายเป็น “ศูนย์เรียนรู้” ทั้งของนักเรียน ครู และคนในชุมชน เรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ
วิจารณ์ พานิช
๒ ม.ค. ๕๗