บทความเรื่อง ภูมิทัศน์การเมืองไทยเปิดกระโหลกผม ในเรื่องสังคมและการเมืองไทยในยุคปัจจุบัน ในแง่มุมภาพใหญ่ และภาพเคลื่อนไหว ที่ประทับใจที่สุดคือ ข้อสรุปในวรรณกรรมปริทัศน์ภาคการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ว่า ร้อยละ ๗๓ ของแรงงาน เป็นแรงงานภาคนอกระบบ ที่ “ไม่มีระบบประกันสังคมใดๆ รองรับ”

 

ข้อมูลและการวิเคราะห์ในตอนนี้ หลายส่วนใหม่และเปิดหูเปิดตาผมมาก ถือเป็นบุญที่ได้อ่านบทความที่ลุ่มลึกเช่นนี้ แต่ผมก็อดเถียงไม่ได้ ว่าแทนที่เราจะมองผู้คนเหล่านี้เป็น “แรงงานนอกระบบ” เรามองเป็น “ธุรกิจขนาดเล็กมาก” (VSE- Very Small Enterprise) จะดีกว่าไหม และภาครัฐและภาคการศึกษา หาทางส่งเสริมการเรียนรู้ และข้อเรียนรู้เพื่อให้ผู้คนเหล่านี้ทำธุรกิจ ได้ดียิ่งขึ้น และเป็นธุรกิจที่ก่อผลดีทั้งต่อตนเองและต่อสังคมได้มากขึ้น แทนที่จะไปตราเขาไว้ “นอกระบบ” ก็คิดใหม่ จัดระบบรองรับและส่งเสริมเขาเสียเลย เพราะเขาเป็นคนส่วนใหญ่ เกือบสามในสี่ของประเทศ “ระบบธุรกิจขนาดเล็กมาก”

 

ข้อความรู้ที่ควรจะหาทางให้คนเหล่านี้เรียนรู้เพิ่ม คือ (๑) ความผันผวนไม่แน่นอน ที่จะมีโอกาสกระทบธุรกิจของเขา และวิธีป้องกันความเดือดร้อนหรือผลกระทบ (๒) ลู่ทางเข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และชีวิต (๓) ทักษะการเรียนรู้ต่อเนื่อง เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของมายาความหลอกลวง ที่มาจากสารพัดรูปแบบ

 

ผมไม่เห็นด้วยกับข้อความที่ว่า คนร้อยละ ๗๓ ของประเทศเหล่านี้ “ไม่มีระบบประกันสังคมใดๆ รองรับ” เพราะเขาได้รับ การคุ้มครองสุขภาพ ซึ่งเป็นระบบประกันสังคมรูปแบบหนึ่ง แม้จะแยกกันกับกฎหมายประกันสังคม การประกันสังคม ในชีวิตคน กับการประกันสังคมในกฎหมายประกันสังคม เป็นคนละเรื่อง

 

ในส่วนปริทรรศน์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ผมสนใจข้อวิเคราะห์ความเข้มแข็งของการเมืองภาคประชาชน ว่ามี ๓ ส่วนคือ (๑) “ท้องที่” กำนันและผู้ใหญ่บ้าน (๒) “ท้องถิ่น” อปท. (๓) “ชุมชน” สภาองค์กรชุมชน

 

วิจารณ์ พานิช

 

๗ เม.ย. ๕๗

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich