นสพ. The Wall Street Journal ฉบับวันที่ ๓ ก.ค. ๕๗ ลงบทวิจารณ์หนังสือชื่อ Virtual Unreality : Just Because the Internat Told You, How Do You Know It’s Trueเขียนโดย Charles Seife (ศาสตราจารย์ด้านวารสารศาสตร์) ชี้ว่า internet ไม่ใช่เป็นเพียง “ความจริงสมมติ” (virtual reality) เท่านั้น แต่ยังเป็น “ความไม่จริงสมมติ” (virtual unreality) ได้ด้วยซึ่งผมสนับสนุนเต็มที่

ลองค้นชื่อหนังสือด้วย Google พบว่าเป็นหนังสือแนะนำในนิตยสาร Scientific American ซึ่งอ่านได้ที่นี่ และหากท่านผู้อ่านค้นจริงๆ จะพบว่าหนังสือเล่มนี้เป็น talk of the town ทีเดียว โดย New York Times ขึ้นชื่อเรื่องว่า Online, the Lying is Easyในโลก ออนไลน์ การโกหกเป็นเรื่องง่าย

อ่านแล้วผมนึกในใจว่า ในโลกการเมือง การโกหกเป็นเรื่องธรรมดา การเอาเงินที่โกงบ้านเมืองไปใส่ไว้ในชื่อคนใช้ เลขา หรือคนสนิท เป็นเรื่องที่คนโกงทำกันหน้าตาเฉย ขอโทษครับ .... นั่นไม่ใช่เรื่อง อินเทอร์เน็ต หรือโลก ออนไลน์ แต่ก็อดแวะเข้าไปไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องโป้ปดมดเท็จเช่นเดียวกัน

ผมว่า เราต้องให้ความเป็นธรรมต่อเทคโนโลยี ว่าเทคโนโลยีมีนเป็นกลาง เป็นเครื่องมือ ไม่ใช่ผู้กระทำ ตัวผู้กระทำคือมนุษย์ ความดีหรือความชั่วอยู่ที่คนใช้เครื่องมือนั้นๆ เหมือนไฟนั่นแหละ เมื่อมนุษย์รู้จักใช้ไฟให้แสงสว่าง ให้ความอบอุ่น ใช้ปรุงอาหาร ฯลฯ ชีวิตมนุษย์ก็ก้าวหน้าเรื่อยมา ไฟจึงมีคุณอนันต์ต่อมนุษย์ แต่ในบางกรณีมนุษย์ก็ใช้ไฟ ในการทำลายล้าง เช่นใช้เผาบ้านเผาเมือง

อินเทอร์เน็ต ช่วยให้มีการรวบรวม สะสม และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารได้กว้างขวางรวดเร็ว ทั้งข้อมูลข่าวสาร ที่เป็นความจริง และที่เป็นความเท็จ ทั้งที่น่าเชื่อถือ และที่ไม่น่าเชื่อถือ

มนุษย์ในยุคศตวรรษที่ ๒๑ จึงต้องเรียนรู้และพัฒนา ICT / Information Literacy ให้แก่ตนเอง ถือเป็นส่วนหนึ่งของทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑

วิจารณ์ พานิช

๓ ก.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย