นี่คือส่วนที่ขาดของการศึกษาไทย และผมคิดว่ามีส่วนทำให้เกิดปัญหาติดยาเสพติด ตั้งครรภ์วัยรุ่น และปัญหาสังคมอื่นๆ ในเด็กและวัยรุ่น ที่จริงมี Chickering Theory of Identity Development ออกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969 และมีสอนในวิชาครู แต่การศึกษาไทยไม่ได้เอามาปฏิบัติอย่างจริงจัง เพราะมัว "สอนเพื่อสอบ"
ที่จริงน่าจะเรียกว่า ทฤษฎีของชิกเกอริ่งว่าด้วยการพัฒนา ๗ มิติ มากกว่า เพราะการพัฒนาอัตลักษณ์เป็นเพียง ๑ ใน ๗ มิติ อันได้แก่
- ๑.การพัฒนาสมรรถนะ (competence)
- ๒.การจัดการอารมณ์
- ๓.การพัฒนาความเป็นอิสระและการพึ่งพาอาศัยกันกับผู้อื่น
- ๔.การพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้อื่น แบบผู้ใหญ่
- ๕.พัฒนาอัตลักษณ์ (identity)
- ๖.พัฒนาเป้าหมายในชีวิต
- ๗.พัฒนาความซื่อสัตย์ (integrity)
เพราะการศึกษาไม่เอาใจใส่มิติด้านการพัฒนาอัตลักษณ์ และเป้าหมายในชีวิต เมื่อโตเป็นวัยรุ่น ชีวิตจึงเคว้งคว้าง เมื่อเผชิญกับแรงกระตุ้นทางเพศภายใน และแรงชักจูงหรือกดดันจากเพื่อน (peer pressure) จึงเสียคนง่าย ยิ่งทักษะในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น แบบผู้ใหญ่ต่อผู้ใหญ่ (ข้อ ๔) อ่อนแอ ก็ยิ่งเสียคนง่ายขึ้น เพราะไม่รู้จักหลีกเลี่ยงปฏิสัมพันธ์ที่มีผลทางลบ
การศึกษาแบบเน้น "สอน" หรือถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูป เน้นให้จำไว้สอบ จะไม่พัฒนาข้อใดๆ เลยใน ๗ ข้อข้างบน
จะพัฒนามิติทั้ง ๗ ได้ ต้อง "สอนแบบไม่สอน" คือจัดการศึกษาแบบ constructionism ให้เด็กเรียนรู้จากการปฏิบัติของตนเอง ตามด้วยการคิดใคร่ครวญไตร่ตรอง (reflection/AAR) ครูต้องมีทักษะการโค้ชให้ศิษย์ใคร่ครวญไตร่ตรองร่วมกัน แล้วเกิดการพัฒนามิติทั้ง ๗ ของชิกเกอริง
ครูต้องเรียนรู้ ใน "ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์" เพื่อพัฒนาวิธีการทำหน้าที่โค้ช/คุณอำนวย ให้ศิษย์ได้พัฒนามิติทั้ง ๗ อย่างลึกซึ้ง และสนุกสนาน เกิดการเรียนรู้แบบที่เรียกว่า Mastery Learning และ Transformative Learning ทั้งในตัวครู และในตัวศิษย์
วิจารณ์ พานิช
๒๒ ธ.ค. ๕๗