วิพากษ์ร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. ….
อ่านร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. ….ได้ ที่นี่
อ่านแล้วผมมีความเห็นว่า ร่างดังกล่าวบอกสามอย่าง
หนึ่ง เป็นการถอยหลังเข้าคลองของประเทศไทยในการจัดการระบบอุดมศึกษาระดับประเทศ ถอยหลังเข้าสู่การรวบอำนาจรวมศูนย์ และใช้กติกาชุดเดียวบังคับสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมด โดยที่ต้นเหตุคือมหาวิทยาลัยที่มีคนเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบในระดับกำกับดูแลและระดับบริหาร ทำให้มีการเสนอกฎหมายแก้ปัญหามหาวิทยาลัยเหล่านั้น เกิดผลข้างเคียงคือกฎหมายนี้ ครอบมหาวิทยาลัย ที่ดีอยู่แล้ว ทำให้ทำงานแบบสร้างสรรค์ แตกต่างออกไปจากเดิมๆ ได้ยาก ต้องอยู่ใต้การพิจารณาอนุมัติ ของกลไกกลางคือคณะกรรมการบริหารการอุดมศึกษาในหมวด ๓ ของร่าง พรบ. ซึ่งจะมีผลให้การบริหาร การอุดมศึกษาของชาติเข้ากรอบเดียว ขาดคุณภาพในความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งเป็นสภาพที่จำเป็น สำหรับการขับเคลื่อนประเทศสู่ Thailand 4.0
สอง สะท้อนความล้าหลังในกระบวนทัศน์ของการจัดระบบเพื่อใช้อุดมศึกษาเป็นพลังขับเคลื่อนการ พัฒนาประเทศ ซึ่งจะต้องสร้างระบบหรือกลไกชักจูง เอื้ออำนวย และเชื่อมโยง ให้อุดมศึกษาเข้าไปเป็นภาคี พัฒนา ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ดังตัวอย่าง Amsterdam Knowledge Network Foundation (ที่ผมเคยบันทึกไว้ ที่นี่) องค์กร Thriving Earth Exchange ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงนักวิทยาศาสตร์กับผู้นำชุมชน เข้าหากัน เพื่อดำเนินการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ องค์กร NACUE ในสหราชอาณาจักร เพื่อส่งเสริมการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการแก่นักศึกษา โดยนักศึกษาจัดการกันเอง เป็นต้น
สามมาตรา ๑๓ (๒) บอกผมว่า ต้องมีกลไกตรวจสอบความคุ้มค่าในการใช้เงินของแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่ง สกอ. ทำไม่เป็น ไม่มีคนที่มีศักยภาพในการทำหน้าที่นี้ หากไม่ระวังการจัดสรรทรัพยากรจะตกอยู่ใต้ การวิ่งเต้นกับคนที่เป็นกรรมการการอุดมศึกษาเป็นหลัก ประเทศจะเข้าสู่หายนะ เรื่องนี้อาจมีคนแย้ง ว่าเวลานี้ก็ใช้การวิ่งเต้นกับเจ้าหน้าที่ และผู้บริหารสำนักงบประมาณอยู่แล้ว
แต่ละประเทศต้องมีกลไกกลางในการบริหารระบบอุดมศึกษาแต่กลไกกลางแบบ top-down, command and control จะทำให้ระบบอุดมศึกษาขาดโอกาสทดลองสร้างสรรค์ พัฒนารูปแบบวิธีการที่แตกต่าง หลากหลาย เพื่อสนองความต้องการของสังคม ที่นับวันก็ยิ่งมีความแตกต่างหลากหลายเพิ่มขึ้น โดยที่ต้องการการกำกับดูแลให้สถาบันอุดมศึกษาเหล่านั้น ทำคุณประโยชน์ ไม่ก่อโทษให้แก่สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำงานกอคุณประโยชน์คุ่มค่าของเงินที่ได้รับการสนับสนุน
ซึ่งกลไกตามในร่าง พรบ. การอุดมศึกษา ไม่สะท้อนภาพให้เห็น
การอุดมศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ต้องกำกับโดยอำนาจของข้อมูลและสารสนเทศ ที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ให้สาธารณะกำกับเองให้มากที่สุด คือเน้นอำนาจของประชาชน ไม่ใช่เน้นอำนาจรวมศูนย์โดยคณะบุคคล
วิจารณ์ พานิช
๘ พ.ย. ๕๙