เป้าหมายหมายเลขหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาคือตัวเด็ก ไม่ใช่โรงเรียน ไม่ใช่ครู ไม่ใช่กระทรวงศึกษาธิการ ไม่ใช่การเมือง
กล่าวใหม่ว่า เป้าหมายหมายเลขหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาคือคุณภาพของพลเมืองของไทยในอนาคต เป้าหมายอื่นๆ เป็นเรื่องรอง เป็นปัจจัยประกอบ หรือเป็น means ไม่ใช่ end
เมื่อตกลงกันได้เช่นนี้แล้ว ก็มาสู่ประเด็นหลักที่สอง ของการปฏิรูปการศึกษา ว่าทำอย่างไรคนไทย ในอนาคตจึงจะมีคุณภาพสูง
คำตอบของผมคือ ต้องให้นักเรียนและนักศึกษาได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพ ในสองพื้นที่ ที่ผมเเรียกว่า “พื้นที่ 1/3” กับ “พื้นที่ 2/3”
ชั้นเรียนและโรงเรียน คือพื้นที่ 1/3 สังคมรอบตัวเด็ก และครอบครัว คือพื้นที่ 2/3 ตัวเลข 1/3 บอกว่า การเรียนรู้ของเด็กเกิดขึ้นในพื้นที่นั้นหนึ่งในสามส่วนของทั้งหมด และตัวเลข 2/3 บอกว่าผลการเรียนรู้ของเด็ก เกิดจากการเรียนรู้ในพื้นที่นอกโรงเรียน คือในสังคม และในครอบครัว
กล่าวเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่าผมยุให้โรงเรียนและกระทรวงศึกษาธิการหดเข้ามารับผิดชอบดำเนินการเฉพาะ ภายในโรงเรียน หรือพื้นที่ 1/3 เท่านั้น แต่หมายความว่าโรงเรียนและกระทรวงศึกษาธิการต้องยื่นมือออกไปร่วมมือกับ ภาคส่วนนอกวงการศึกษา เพื่อจัดพื้นที่ 2/3 ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้เชิงบวก เรียนเพื่อพัฒนาสัญชาตญาณด้านดีของความ เป็นมนุษย์
เพราะหากไม่ระวัง สังคมจะทำร้ายเด็ก หากินกับการมอมเมาเยาวชน ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ โปรดสังเกต สภาพแวดล้อมของตัวเด็กไทยในปัจจุบันดูเถิด จะเห็นว่าเป็นสภาพที่ชักจูงไปสู่ทางเสื่อมหรืออบายมุขเต็มไปหมด มีมากกว่าพื้นที่เชิงบวก ที่ชักชวนเยาวชนให้ปฏิบัติเพื่อฝึกฝนความเป็นคนดีคนเข้มแข็งทนความเย้ายวนของสิ่งล่อใจ หรืออบายมุขได้
ระบบการศึกษาที่เข้มแข็ง พื้นที่ 2/3 ต้องเข้มแข็ง และผู้จัดการหมายเลขหนึ่งของพื้นที่นี้ต้องไม่ใช่ระบบ bureaucracy เพราะจะทำไม่ได้ผล กลไกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม รวมทั้งภาคครอบครัว ต้องเข้ามาร่วมกันเป็นแกนนำ จึงจะทำได้สำเร็จ โดยต้องดึงกลไกทางสังคมที่มีอยู่มาร่วม ที่ลืมไม่ได้คือวัด
วิจารณ์ พานิช
๑๓ ต.ค. ๖๐
บนเครื่องบิน EVA Air จากนิวยอร์กไปไทเป