วิวัฒนาการบรรจบวัฒนธรรมที่โรงเรียน
บทความเรื่อง Primal Brain in the Modern Classroom เขียนโดย David C. Geary ตีพิมพ์ในนิตยสาร Scientific American ในปี ค.ศ. 2011 และพิมพ์ซ้ำในหนังสือ The Science of Education ในปี 2012 บอกว่าการเรียนรู้ในโรงเรียนเป็นวัฒนธรรมใหม่ของมนุษย์ แต่สมองเด็กมาจากวิวัฒนาการที่ยาวนาน มาจากสัตว์ที่ต่ำกว่า และมาจากวิถีชีวิตมนุษย์ ๒ แสนปี การจัดการเรียนรู้ที่โรงเรียนจึงต้องเข้าใจความแตกต่าง ระหว่างสองสิ่งนี้ และหาทางจัดให้มันเสริมส่ง (synergy) กัน
เมื่อเด็กเล็กไปโรงเรียน เด็กจะสนใจเพื่อน มากกว่าสนใจการเรียน เพราะวิวัฒนาการกำหนดให้คนเรา ต้องเรียนรู้ที่จะสังคมกับเพื่อนมนุษย์คนอื่น คล้ายๆ ความสนใจเพื่อนมาจากสัญชาตญาณ ส่วนความสนใจ การเรียนต้องฝึก เป็นการเรียนรู้เชิงวัฒนธรรม
บทความนี้บอกว่า ความรู้ของคนมี ๒ ชนิด คือความรู้แนวชาวบ้าน (folk knowledge - มากับสัญชาตญาณของความเป็นมนุษย์) กับความรู้แนว วิทยาศาสตร์ (scientific knowledge - ต้องฝืนใจฝึกฝน เพราะมนุษย์ไม่คุ้นเคย)
มนุษย์เราเมื่อได้รับสารสนเทศ จะจัดการ ๒ แบบ คือแบบเป็นอัตโนมัติ ไม่ต้องตั้งใจหรือตั้งสติ กับแบบที่ต้องเอาใจใส่ ใช้ความพยายาม
การจัดการแบบอัตโนมัติ ใช้กับกิจกรรมเชิงสังคม และสภาพแวดล้อมรอบตัว ส่วนการจัดการแบบ ต้องตั้งสติใช้เรียนรู้หลักการหรือกระบวนทัศน์ใหม่ๆ ต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว
ผมตีความว่า การเรียนรู้ที่ดี ที่เกิดการเรียนรู้แบบรู้จริง (mastery learning) เป็นการย้ายให้สารสนเทศ ที่เดิมต้องจัดการแบบที่ ๒ ไปสู่การจัดการแบบแรก คือแบบอัตโนมัติ เท่ากับการเรียนรู้คือการเปลี่ยนแปลง ตัวตน (transform) ตัวผู้เรียน ให้มีความรู้แนววิทยาศาสตร์ หรือแนววัฒนธรรมมนุษย์ เข้าไปฝังจนกลายเป็น ความรู้สัญชาตญาณ (folk knowledge) ประจำตัวของตน ผมตีความว่า นี่คือวิธีตีความคำว่า transformative learning อีกแบบหนึ่ง ที่เป็นการเปลี่ยนนิสัย หรือสันดาน
ความสนุก (และยาก) ของครูคือ เด็กแต่ละคนมีความรู้ ๒ แบบนี้แตกต่างกัน จึงเป็นเรื่องที่ครูที่รัก การเรียนรู้จากชีวิตการเป็นครู จะมีโอกาสได้เรียนรู้สร้างสรรค์วิชาการว่าด้วย transformative learning แนวนี้อย่างไม่รู้จบ
บทความอธิบายการเรียนรู้ของทารกแรกเกิดอย่างน่าสนใจมาก อ่านแล้วจะเข้าใจกลไกการเรียนรู้ ที่แท้จริง ซึ่งเราจะไม่มีวันรู้ตัว แต่จะเป็นกระบวนการที่ทารกใช้สัมผัสทางประสาททุกด้าน ไปกระตุ้น การเจริญเติบโตและพัฒนาการของสมอง และร่างกาย ผมตีความว่า นี่คือกระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริง คือผลสุดท้ายไปอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงในสมองและร่างกาย โดยเราไม่รู้ตัว ผมตีความต่อว่า การเรียนรู้แบบ ที่เรารู้ตัวนั้น ยังไม่ใช่การเรียนรู้ที่ลึกจริง ผมตีความเข้าป่าหรือเปล่าก็ไม่ทราบ
ย้ำอีกที ว่าผมเชื่อว่า การเรียนรู้ที่แท้จริงของมนุษย์ เป็นกลไกการเรียนรู้แบบเดียวกันกับที่บทความนี้ อธิบาย การเรียนรู้ที่แท้จริงของผู้ใหญ่ก็ผ่านกลไกนี้ แต่เราหลงไปสมาทานระบบการศึกษาแบบรับถ่ายทอด ข้อสรุปจากครู/อาจารย์ หรือผู้รู้ เป็นหลัก เพราะมันสะดวก แต่มันจะไม่ทำให้เรารู้จริง ดังนั้นการเรียนรู้ที่ดี ในปัจจุบันจึงต้องผสมผสานอย่างพอดี ระหว่างการเรียนรู้จากสัมผัสของตนเอง กับการเรียนรู้จากการรับถ่ายทอด ข้อสรุป
บทความนี้สรุปว่า วิธีการที่มนุษย์เรียนรู้ในปัจจุบันเป็นลูกผสมระหว่าง วิธีการของสัญชาตญาณ กับวิธีการเชิงวิชาการ ที่เราเรียนจากระบบการศึกษา
สิ่งที่มนุษย์มีเหนือสิ่งมีชีวิตอื่นคือ ... จินตนาการ ความสามารถท่องเที่ยวไปในความคิด เดินหน้าถอยหลัง ตัดฉาก เวลาได้อย่างไม่จำกัด สมมติตนเอง และตัวละครอื่นขึ้นมาสร้างเรื่องราวในใจได้ รวมทั้งมีความรู้สึกเป็นตัวตน มีความทรงจำระยะยาวเกี่ยวกับตนเอง เชื่อมโยงหลากหลายเรื่องราว เรียกว่า self-schema ซึ่งผมขอเรียกว่า “ก้อนอัตตา” (ก้อนอัตตานี้น่าจะเป็นชื่อที่ผิดเพราะจริงๆ แล้วมันเป็นเครือข่าย ใยประสาท) ก้อนอัตตานี่แหละที่กำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ รวมทั้งเรื่องการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พฤติกรรมมีเป้าหมายชีวิต เป้าหมายการเรียนรู้ และความมานะพยายามเมื่อเผชิญความยากลำบาก
นอกจากก้อนอัตตาแล้ว คนเรายังมีก้อนความรู้เกี่ยวกับบุคคลอื่น และสิ่งอื่นๆ สำหรับใช้ในเครือข่าย สังคม และการดำรงชีวิตของเรา และเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมต่างๆ ในชีวิต
คุณภาพสุดยอดของสมองมนุษย์ คือ ความระลึกรู้ (consciousness) ขั้นสูง ระลึกรู้ได้แม้กระทั่งสิ่งที่ ไม่มีอยู่จริง คือจินตนาการ
การใช้สมองในเรื่องราวต่างๆ ของมนุษย์นั้นหากใช้แบบที่ ๑ (อัตโนมัติ) จะแทบไม่ ต้องใช้ความพยายามเลย สมองไม่เหนื่อย แต่หากใช้แบบที่ ๒ (ต้องตั้งสติ ใช้ความพยายาม) สมองจะเหนื่อย หากสมองรู้ว่าทำไปก็เท่านั้น มีประโยชน์น้อย สมองก็จะไม่ทำงาน นี่คือคำอธิบายความสำคัญของแรงบันดาลใจ ในการเรียนรู้ และเป็นคำอธิบายความหมายของการเรียนรู้ที่แท้จริง ว่าเป็นการฝึกฝนเพื่อย้ายสิ่งที่สมองต้อง ใช้ความพยายาม ให้กลายเป็นสิ่งที่สมองทำได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายาม
การเรียนรู้ จึงเป็นการฝึกให้เกิดสภาพอัตโนมัติของสมอง (และร่างกาย) โดยครูทำหน้าที่โค้ช
วิจารณ์ พานิช
๓๐ ก.ย. ๕๖