กระบวนการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ความเห็นของอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา
มีคนส่งต่อ อี-เมล์ มีข้อความดังต่อไปนี้
.....ร่าง พรบ นิรโทษกรรม ผ่านการพิจารณาวาระที่สามจากสภาผู้แทนราษฎรไปเรียบร้อยแล้ว ตามความต้องการของทักษิณ ชินวัตร เจ้าของพรรคเพื่อไทย
.....กระบวนการตามรัฐธรรมนูญ ก็ต้องส่ง ร่าง พรบ ฉบับนี้ ไปให้วุฒิสภาพิจารณา ถ้าวุฒิสภาเห็นชอบก็ถือว่า ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา แต่ถ้าไม่เห็นชอบก็ต้องส่งคืนสภาผู้แทนราษฎร และต้องทั้งสองสภาตั้งกรรมาธิการร่วมกันพิจารณา แล้วเสนอต่อสภาทั้งสอง ถ้าสภาทั้งสองเห็นชอบก็ส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม ฯลฯ แต่ถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบก็ให้ยับยั้งไว้ก่อน ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 147
.....ขอยืนยันว่า ร่าง พรบ นิรโทษกรรม ฉบับนี้ ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มาตรา 122 มาตรา 142 และมาตรา 197
.....ดังนั้นเมื่อร่าง พรบ ฉบับนี้ ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ส.ส. ส.ว. หรือสมาชิกของทั้งสองสภามีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ มีสิทธิเสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทน ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา ว่า ร่าง พรบ นิรโทษกรรม ฉบับนี้ มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคหนึ่ง(1)
.....ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่าง พรบ นิรโทษกรรม ฉบับนี้ มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ร่าง พรบ ฉบับนี้เป็นอันตกไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคสาม ซึ่งก็หมายจะไม่มีผลที่ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
...........ขอให้ใจเย็น ๆ ไม่ต้องวิตกกังวลจนเกินเหตุ ในความเป็นนักกฎหมายค่อนข้างเชื่อมั่นว่า ร่าง พรบ นิรโทษกรรม ฉบับนี้ยากที่จะมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย ครับ !
ชูชาติ ศรีแสง
อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา