ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ให้โอกาสวงการวิชาการ วงการวิจัย ทำงานวิชาการเพื่อสังคม
ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ให้โอกาสวงการวิชาการ วงการวิจัย ทำงานวิชาการเพื่อสังคม
เช้าวันที่ ๖ พ.ย. ๕๖ ผมฟังข่าววิทยุ ทราบว่าทางจุฬาฯ ตั้งคณะทำงานศึกษาเรื่องร่าง พรบ. นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย เพื่อบอกแก่สังคม ทำให้นึกขึ้นได้ว่า วิกฤติการเมืองไทยครั้งนี้เป็นโอกาสใหญ่ไปด้วยในตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสที่ประชาชนไทยจะได้เรียนรู้ความซับซ้อนของการเมือง ที่มีทั้งมิติสร้างสรรค์ และมิติทำลายสังคมในระยะยาว
เวลานี้ การเมืองไทย กำลังอยู่ในมิติทำลายความเข้มแข็งของสังคมไทย โดยคนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว ทำลายในคราบหรือข้ออ้างประชาธิปไตย
ความซับซ้อนซ่อนเงื่อนเช่นนี้แหละคือโอกาสที่วงการวิชาการ วงการวิจัย จะทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง
ผมจึงชื่นชม และภูมิใจ อย่างยิ่ง ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ที่ผมเป็นศิษย์เก่าคนหนึ่ง) จัดระบบการทำงานวิชาการในเรื่องนี้ เพื่อบอกแก่สังคมไทย บอกอย่างเป็นวิชาการ มีข้อมูลหลักฐาน ไม่ใช่บอกด้วยอารมณ์ หรือความต้องการเอาชนะ
โจทย์ที่สำคัญคือ ข้อความตามร่าง พรบ. ที่ผ่านวาระ ๓ ของสภาผู้แทนฯ จะมีผลต่อเนื่องอย่างไรบ้าง ใครบ้างที่จะได้รับผลกระทบ และได้รับในทางใด ใครบ้างที่จะไม่ได้รับผลกระทบ และในภาพรวม กฎหมายนี้จะก่อผลอย่างไรบ้าง ต่อสังคมไทย
คำตอบต้องมาจากการวิจัย ไม่ใช่แค่ความเห็น และต้องเป็นผลการวิจัยที่ผ่านการตรวจสอบของเพื่อนนักวิชาการ ที่เรียกว่า peer review คือเวลานี้ สังคมไทยต้องการความรู้ที่ไม่เจือปนอารมณ์ หรือที่เป็นกลาง หรือแม่นยำ เกี่ยวกับผลกระทบที่แท้จริงของร่างกฎหมายนี้
ผมจึงเสนอความเห็นมายังมหาวิทยาลัยทั้งหลาย และต่อ สกว. ว่าเป็นโอกาสที่วงการวิจัย จะทำงานใหญ่ให้แก่สังคม
วิจารณ์ พานิช
๖ พ.ย. ๕๖