ในการประชุมคณะกรรมการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เมื่อวันที่ ๒๓ ต.ค. ๕๖ Professor Bert Sakmann กรรมการท่านหนึ่ง ได้นำเอกสารต้นฉบับแปลบันทึกส่วนหนึ่ง    ของ Dr. Friedrich Schaefer ระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๕๒  ถึง๑๐ สิงหาคม ๒๔๕๖ มาให้อ่าน    โดยท่านถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๕๗    เพราะโรคโลหิตเป็นพิษ ที่ติดจากการผ่าตัดผู้ป่วย

อ่านแล้วได้ความรู้เรื่องสภาพบ้านเมืองในสมัยร้อยปีก่อน    ได้ตระหนักสภาพการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างชาติอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน ในการมีอิทธิพลเหนือผู้บริหารประเทศไทย    และที่สำคัญอย่างยิ่ง ได้สัมผัสความล้าหลังของการแพทย์แผนตะวันตกในประเทศไทย

สภาพโรคภัยไข้เจ็บเมื่อร้อยปีก่อนคือ อหิวาตกโรค (ระบาดประจำปี) จากการขาดแคลนน้ำสะอาด   มาลาเรีย (พบน้อยในเมืองบางกอก  แต่เป็นปัญหามากในหัวเมือง)   ไข้ทรพิษ (คนไม่นิยมปลูกฝี)   โรคเหน็บชา   ขาดแคลนความสามารถในการรักษาด้วยการผ่าตัดอย่างถูกสุขลักษณะ    และชาวบ้านไม่ศรัทธาการรักษาที่โรงพยาบาล

ศาสตราจารย์ แบร์ท ซัคมานน์ ถึงกับเอ่ยกับผมว่า    ไม่น่าเชื่อว่าระบบบริการสุขภาพของไทย จะก้าวหน้าเท่าเทียมกับตะวันตกในขณะนี้   โดยที่เมื่อร้อยปีก่อนเราอยู่ที่ศูนย์

บทแปลบันทึกชุดนี้ รวมทั้งบทส่งท้าย ที่เป็นความเห็นของ ศาสตราจารย์ แบร์ท ซัคมานน์ (ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยา หรือสาขาการแพทย์)    จะตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกฉลอง ๑๐๐ ปีโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในปีหน้า

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๔ ต.ค. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย