รศ. ดร. อรทัย อาจอ่ำ แห่งสถาบันวิจัยประชากรและสังคม    ส่งรายงานผลการวิจัยเรื่อง การสร้างเสริมพลังอำนาจชุมชนชาวนา และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนทัศน์ใหม่ทางการวิจัย : ประสบการณ์จากอำเภอขุขันธ์ ศรีสะเกษ มาให้    ผมอ่านแล้วเห็นตัวอย่างนักวิชาการสายสังคมศาสตร์ ที่ลงทำงานวิจัยในพื้นที่   เพื่อร่วมสร้างเสริมพลังอำนาจ ความมั่นใจตนเอง ของชุมชนในชนบท

รายงานดังกล่าว อ่านได้ ที่นี่

ดร. อรทัย ยังเผยแพร่ผลงานในที่ต่างๆ    เพื่อสร้างวาทกรรมการเสริมพลังอำนาจ (empowerment) ต่อชุมชนชาวนา อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ดัง ตัวอย่างนี้

อ่านแล้วผมตรึกตรองว่า นี่คืองานวิชาการสายรับใช้สังคม ใช่หรือไม่    คำตอบคือจะว่าใช่ก็ใช่    จะว่าเป็นงานวิชาการสายวิชาการแท้ก็ใช่    แล้วแต่จะเสนอให้ประเมินในมุมใด

หากจะเสนอเป็นผลงานวิชาการสายรับใช้สังคม    การประเมินต้องเน้นวัดที่ผลกระทบต่อความมั่นใจตนเองของคนในชุมชน    วัดอย่างไรผมไม่ทราบ    รู้แต่ว่า นั่นคือโจทย์วิจัยสำคัญ ที่ สกอ. ควรร่วมกับ สกว. ประกาศให้ทุนสนับสนุนการวิจัยเพิ่อหาวิธีวัด

หากจะเสนอเป็นผลงานสายวิชาการแท้   การประเมินต้องวัดตามวิธีการประเมินผลงานวิชาการตามปกติ    คือดูที่นวภาพ (novelty) ทางวิชาการ, ความแม่นยำน่าเชื่อถือ, และเมื่อเผยแพร่แล้ว ได้รับการยอมรับอ้างอิงในวงการวิชาการด้านนั้นๆ, และเกณฑ์อื่นๆ ที่มีปรากฎชัดเจนตามที่ กพอ. กำหนด

เขียนบันทึกนี้แล้ว ทำให้นึกออกว่า ผลงานวิชาการสายรับใช้สังคม จะเห็นผลกระทบแท้จริง ต้องทำต่อเนื่องยาวนาน   จึงต้องทำงานแบบเป็นโปรแกรม   ไม่ใช่แบบเป็นโปรเจ็คท์

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๘ พ.ย. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย