มาตรฐานการศึกษา
เรามักเข้าใจผิด ว่ามาตรฐานการศึกษาอยู่ที่ กกอ./สกอ. จริงๆ แล้ว นั่นเป็นเพียงส่วนเดียว เป็นมาตรฐานในกระดาษ ยังมีส่วนมาตรฐานในการปฏิบัติ มาตรฐานในวัฒนธรรม มาตรฐานในคุณธรรม และอื่นๆ อีกมากมาย จาระไนไม่หมด
เมื่อวันที่ ๑๘ พ.ย. ๕๖ ผมได้รับฟังเรื่องเล่าจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เรื่อง ดร. ก จบจากต่างประเทศ ไปรับราชการใช้ทุนในมหาวิทยาลัย ร ในต่างจังหวัด และพบว่าลูกศิษย์เกือบทั้งหมดไม่ตั้งใจเรียน และเรียนอ่อนมาก ถึงเวลาสอบ ผลคือตกค่อนชั้น
เมื่อมีผลสอบออกมา ก็มีชายชุดดำ เป็น สมาชิก อบต. (ผมไม่แน่ใจว่าท่านเล่าว่าเป็นนายก อบต. หรือเปล่า) มาหา ดร. ก ว่าลูกของตนจะสอบตกได้ไง อาจารย์สอนอย่างไร เด็กสอบตกค่อนห้อง ถ้าไม่แก้คะแนน จะมีเรื่อง
ดร. ก ยังอ่อนเยาว์ในเรื่องเช่นนี้ จึงไปขอคำปรึกษาจากอธิการบดี ได้รับคำแนะนำว่า ทาง อบต. เขาช่วยเหลือมหาวิทยาลัยมาก หากไม่ช่วยลูกของสมาชิก อบต. ท่านนี้ ต่อไปความช่วยเหลืออาจลดลง จึงแนะนำให้แก้เกรด
ดร. ก งุนงงและอึดอัดต่อคำแนะนำ และในที่สุดก็ต้องแก้เกรด แต่ก็ทำใจไม่ได้ ในที่สุดก็ลาออกจากมหาวิทยาลัย ร ไปทำงานที่อื่น
ผมมีคำถามเพื่อเป็นความรู้ว่า เหตุการณ์ทำนองนี้มีเกิดที่อื่นอีกไหม เกิดบ่อยไหม
ป้องกันอย่างไร
ผมมีคำแนะนำว่า วิธีป้องกันแบบตัดไฟแต่หัวลม คือ อาจารย์ต้องฝึกวิธีสร้าง student engagement หรือฝึกวิธีทำให้เรียนสนุก ดังปรากฎในหนังสือ ครูเพื่อศิษย์ : สนุกกับการเรียนในศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรี โดยมหาวิทยาลัยที่เผชิญปัญหา นศ. เรียนอ่อนและไม่ตั้งใจเรียนควรมีคนศึกษาหนังสือเล่มนี้ และจัด training workshop แก่ครู และจัดให้มี PLC Student Engagement ให้อาจารย์ได้ ลปรร. เทคนิคหรือเคล็ดลับ ที่ช่วยให้ นศ. เรียนสนุก และเรียนแล้วรู้จริง
นี่คือวิธีบริหารมาตรฐานการศึกษา ในระดับปฏิบัติ ใกล้ตัวนักศึกษาที่สุด และเป็นของจริงแท้ที่สุด
มาตรฐานที่แท้ อยู่ที่การปฏิบัติ ไม่ได้อยู่ในกระดาษ
วิจารณ์ พานิช
๒๐ พ.ย. ๕๖