อวสานของการสอนในชั้นเด็กเล็ก
บทความเรื่อง The Death of Preschool เขียนโดย Paul Tullis ตีพิมพ์ในนิตยสาร Scientific American ในปี ค.ศ. 2011 และพิมพ์ซ้ำในหนังสือ The Science of Education ในปี 2012 บอกว่า การสอนวิชาในชั้นเด็กเล็กเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ แทนที่จะให้ผลดี กลับก่อผลร้ายต่อชีวิตของเด็กในภายหน้า
นี่คือผลงานวิจัย ที่บอกว่าผู้คนโดยทั่วไปมักเข้าใจผิด อยากให้ลูกอ่านหนังสือออกเร็วๆ แล้วสร้างแรงกดดันให้โรงเรียนชั้นเด็กเล็กและอนุบาลต้องเน้นสอน การจัดกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเด็กเล็ก ที่ควรจัดแบบ Play-Based Learning จึงกลายเป็น Academic-Based Learning ซึ่งเป็นพิษต่อพัฒนาการของ สมองเด็ก
เขาบอกว่าในช่วงต้นถึงอายุ ๗ ขวบ เด็กควรเรียนจากการเล่า เพื่อฝึกฝนพัฒนาการของร่างกาย และด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ด้านอารมณ์และสังคม จากการที่เด็กลงมือทำสิ่งต่างๆ เอง ได้สัมผัสสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง
เขายกตัวอย่างที่ไปพบด้วยตนเอง (ในรัฐแคลิฟอร์เนีย) ที่พ่อ (ผู้มีฐานะร่ำรวย) ของเด็กบอกว่า ตนเลือกส่งลูกเข้าโรงเรียน ก เพราะสอนให้เด็กเรียนรู้ได้เร็ว เมื่อไปเยี่ยมโรงเรียน ก ก็พบว่าเขาประกาศว่า จัดการเรียนแบบ มอนเตสซอรี่ คือให้เด็กเรียนแบบจับต้องเล่นของต่างๆ แต่เมื่อเข้าไปสังเกตกระบวนการ เรียนรู้ในชั้นเรียนก็พบว่า เป็นการเรียนแบบ Teacher-Directed (Passive Learning) ไม่ใช่แบบ Student-Directed (Active Learning) อย่างในอุดมการณ์ ของ มอนเตสซอรี่
เขาบอกว่า การให้เด็กเรียนวิชาเร็ว โดยที่สมองยังไม่พร้อม จะก่อความเครียด ความเครียดนี่แหละ เป็นพิษร้ายต่อพัฒนาการของสมองส่วนที่ว่าด้วยการเรียนรู้และความจำ คือ ฮิปโปแคมปัส
การเรียนโดยครูสอนวิชาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก จะปลูกฝังความเป็น “ผู้ตาม” ตั้งแต่เด็ก โดยเด็กจะคิด และทำตามที่ครูสอน แต่การเรียนแบบเล่น หาวิธีการต่างๆ เอง จะปลูกฝังความเป็นผู้นำ ความเป็นตัวของตัวเอง และความคิดสร้างสรรรค์
เขายกตัวอย่างผลงานวิจัย ๒ ชิ้น ชิ้นแรกเป็นของ Alison Gopnik และคณะแห่ง UC Berkeley บอกว่า ได้ทดลองให้เด็กเล็กเล่นตุ๊กตาที่ร้องเพลงได้ โดยแบ่งเด็กออกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มที่ ๑ ครูสอนวิธีเล่นให้ โดยต้องมีหลายขั้นตอนตุ๊กตาจึงจะร้องเพลง กลุ่มที่ ๒ ครูแกล้งบอกว่าตุ๊าตานี้ร้องเพลงได้ แต่ครูยังไม่รู้ว่าทำ อย่างไรตุ๊กตาจึงจะร้องเพลง ผลคือเด็กกลุ่มแรกทำตามที่ครูสอนได้ แต่ต้องทำหลายขั้นตอนตามที่ครูสอน ส่วนกลุ่มที่ ๒ ค้นพบว่าทำเพียง ๒ ขั้นตอน ตุ๊กตาก็ร้องเพลงแล้ว ผมค้นบทความคล้ายกันของ Alison Gopnik ที่นี่
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง เป็นของ Laura Schultz และคณะแห่ง MIT ทดลองให้เด็กเล่นตุ๊กตาที่เปล่งเสียง และทำอย่างอื่นได้หลายอย่าง โดยแบ่งเด็กออกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มที่ ๑ ครูสอนวิธีเล่น ทำให้ตุ๊กตาเปล่งเสียง กลุ่มที่ ๒ ครูไม่สอนวิธีเล่น พบว่าเด็กกลุ่มแรกเล่นให้ตุ๊กตาร้องได้เท่านั้น แต่กลุ่มที่ ๒ เล่นตุ๊กตาได้หลายอย่าง
ผลงานวิจัยทั้งสองบอกเราว่า การสอนวิธีการโดยตรง ปิดกั้นความอยากรู้ และความสร้างสรรค์ของเด็ก
ผลงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งเป็นเรื่องการเรียนรู้ภาษาและคำศัพท์ ในเด็กอายุ ๑ - ๒ ปี บันทึกคำพูดโต้ตอบ ระหว่างพ่อแม่กับเด็กอย่างละเอียด พบว่าไม่มีการสอนโดยตรงเลย แต่เด็กได้เรียนรู้ถ้อยคำอย่างมากมาย จากการเล่าเรื่อง การเล่น ร้องเพลง เล่าเรื่องตลก ไม่ใช่จากการสอนโดยตรง
การเล่น ทำให้เด็กได้ฝึกใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กๆ ของมือและส่วนอื่นๆ ที่เรียกว่า fine motor เช่นการลากเส้น วาดรูป ตัดกระดาษ ช่วยให้เด็กได้ฝึกประสานการรับรู้ละเอียดระหว่างมือกับตา ช่วยกระตุ้นพัฒนาการของสมอง ผลการวิจัยบอกว่าการมีทักษะดังกล่าวดี เป็นตัวทำนายผลสัมฤทธิ์ ของการเรียนในอนาคต
หลักฐานว่า การให้เด็กเรียนวิชาตั้งแต่ยังเล็ก ก่อผลร้ายต่อชีวิตเด็กมาจากผลการวิจัยของ Lawrence Schweinhart และคณะ โดยติดตามศึกษาเด็กอายุ ๓ - ๔ ปีที่เป็นเด็กยากจน ไปจนอายุ ๒๓ ปี ประมาณครึ่งหนึ่งเข้าเรียนชั้นเด็กเล็กที่สอนวิชาเข้มข้น อีกครึ่งหนึ่งเรียนในโรงเรียนเด็กเล็กแบบ play-based พบว่าเกือบครึ่งของเด็กกลุ่มแรกมีชีวิตที่มีปัญหาทางอารมณ์ ปัญหานี้มีในเด็กกลุ่มหลังเพียงร้อยละ ๖ เท่านั้น เด็กกลุ่มหลังมีอัตราถูกจับกุมจากการก่อปัญหาความรุนแรงต่ำกว่า และระหว่างเรียนได้รับการวินิจฉัยว่า มีปัญหาทางอารมณ์ ต้องเข้าเรียนในชั้นเรียนของเด็กพิเศษต่ำกว่า
เขาตั้งข้อสงสัยว่า การให้เด็กเรียนวิชาตั้งแต่ยังเล็กเกินไป จะสร้างรอยแผลถาวรให้แก่สมองเด็ก
วิจารณ์ พานิช
๒๗ ธ.ค. ๕๖